ดาวเทียมโครงการ BepiColombo ประสบความสำเร็จในการโคจรผ่านโลก (Earth Flyby) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในระหว่างการเดินทางเข้าสู่วงโคจรในแรงดึงดูดของดาวพุธ (Mercury Orbit Insertion) โดยอาศัยหลักการ Gravity Assist ในการช่วยลดความเร็วของดาวเทียมโดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง ด้วยการโคจรผ่านด้านหน้าการโคจรของโลกที่โคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ ซึ่งสามารถช่วยลดความเร็วของดาวเทียมได้จาก 30 กิโลเมตรต่อวินาที ลงเหลือประมาณ 25 กิโลเมตรต่อวินาที และทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของวงโคจรได้
โครงการ BepiColombo เป็นโครงการสำรวจดาวพุธ (Mercury Exploration) ที่ได้รับการออกแบบและควบคุมการปฏิบัติภารกิจในความร่วมมือกันระหว่างองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ซึ่งประกอบด้วยดาวเทียม จำนวน ๒ ดวง คือ ดาวเทียม Mercury Planetary Orbiter (MPO) ที่สร้างขึ้นโดย ESA และดาวเทียม Mercury Magnetospheric Orbiter (MMO) ที่สร้างขึ้นโดย JAXA โดยดาวเทียมทั้งสองดวง ได้รับการส่งขึ้นจากพื้นโลกด้วยจรวด Ariane 5 ECA จากฐานยิงจรวด Guiana Space Centre เมืองเฟรนช์เกียนา สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางตอนบนของทวีปอเมริกาใต้ เมื่อ 20 ต.ค.61 และอยู่ในวงโคจรแล้วเป็นระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน ซึ่งดาวเทียมทั้งสองดวงจะโคจรไปพร้อมกันก่อนที่จะแยกออกจากกัน (Spacecraft Separation) เมื่อเข้าสู่วงโคจรในแรงดึงดูดของดาวพุธ
โครงการ BepiColombo มีภารกิจในการสำรวจพื้นผิว ชั้นบรรยากาศ สนามแม่เหล็กของดาวพุธ และพิสูจน์ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ (Einstein’s Theory of General Relativity) ซึ่งในระหว่างการโคจรจากโลกเข้าสู่วงโคจรของดาวพุธ จะใช้ระยะเวลาในการเดินทางทั้งหมดประมาณ 7 ปี ซึ่งดาวเทียมทั้งสองดวงจำเป็นต้องโคจรผ่านโลก (Earth Flyby) จำนวน 1 ครั้ง ก่อนที่จะโคจรผ่านดาวศุกร์ (Venus Flyby) จำนวน 2 ครั้ง และโคจรผ่านดาวพุธ (Mercury Flyby) จำนวน 6 ครั้ง และจะสามารถเข้าสู่วงโคจรในแรงดึงดูดของดาวพุธได้