ที่มาโครงการ
เนื่องจากประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรที่สูงมากประเทศหนึ่ง จึงมีแนวความคิดที่จะค้นหาพื้นที่ใหม่นำหรับการตั้งถิ่นฐานเพิ่มเติม โดยดวงจันทร์เป็นหนึ่งในเป้าหมายของประเทศอินเดียในการตั้งถิ่นฐานใหม่ดังกล่าว นอกจากนั้น ประเทศอินเดียยังต้องการที่จะเป็นประเทศที่ 4 ที่สามารถเดินทางสู่อวกาศและนำยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์แบบ Soft Landing ได้อย่างสมบูรณ์ หลังจากที่สหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศ Luna 2 ไปลงจอดที่ดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรกของโลก (แบบ Crash Landing) เมื่อปี ค.ศ.1959 และหลังจากนั้น สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศ Apollo 11 พร้อมนักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของโลกเมื่อปี ค.ศ.1969 และประเทศจีนได้ประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศ Chang’e 4 ที่สามารถลงจอดแบบ Soft Landing ในบริเวณด้านไกลสุดของดวงจันทร์เป็นครั้งแรก เมื่อต้นปี ค.ศ.2019 ที่ผ่านมา
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2019/10/1-1024x560.jpg)
โครงการจันทรายาน เป็นโครงการสำรวจพื้นผิวบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ก่อตั้งโดยองค์การวิจัยด้านอวกาศแห่งอินเดีย (Indian Space Research Organisation : ISRO) เมื่อปี พ.ศ.2546 สำหรับการปฏิบัติภารกิจในการสำรวจขั้วใต้ของดวงจันทร์เพื่อประเมินความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะสามารถตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์อันเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีน้ำอยู่ในปริมาณมาก โดยโครงการจันทรายานได้แบ่งขั้นตอนการดำเนินการและการวิจัยพัฒนาออกเป็นโครงการย่อย จำนวน 3 โครงการ คือ
1. โครงการจันทรายาน-1 เป็นการวิจัยพัฒนาในส่วนของ Orbiter ซึ่งเป็นดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบดวงจันทร์ สำหรับการติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ กับ ISRO และวิจัยพัฒนาในส่วนของ Impactor ซึ่งเป็นยานอวกาศที่จะลงจอดบนดวงจันทร์แบบ Crash Landing สำหรับสำรวจพื้นผิวของดวงจันทร์
2. โครงการจันทรายาน-2 เป็นการวิจัยพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของ Soft Lander ซึ่งเป็นยานอวกาศที่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้แบบ Soft Landing และวิจัยพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของ Rover ซึ่งมีลักษณะคล้ายรถที่สามารถเคลื่อนที่บนพื้นผิวของดวงจันทร์และสามารถสำรวจพื้นผิวได้มากยิ่งขึ้น
3. โครงการจันทรายาน-3 เป็นการวิจัยพัฒนาเพิ่มเติมในการเพิ่มขีดความสามารถในการนำวัตถุจากดวงจันทร์กลับมาวิเคราะห์บนโลก
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2019/10/2-2-1024x877.jpg)
ความก้าวหน้าโครงการ
จันทรายาน-1 ได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศเมื่อ 22 ต.ค.51 เวลา 0622 ตามเวลาท้องถิ่น จาก Satish Dhawan Space Centre ประเทศอินเดีย ซึ่งได้เดินทางเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ เมื่อ 8 พ.ย.51 โดยยาน Moon Impact Probe ที่จันทรายาน-1 นำขึ้นไปด้วย ได้ลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์แบบ Crash Landing ได้สำเร็จ เมื่อ 14 พ.ย.51 โดยจันทรายาน-1 สามารถปฏิบัติการในการทำแผนที่พื้นผิวดวงจันทร์แบบ 3 มิติ และค้นพบโมเลกุลของน้ำเป็นจำนวนมากในบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ อย่างไรก็ตาม จันทรายาน-1 ได้ขาดการติดต่อสื่อสารกับ ISRO เมื่อ 28 ส.ค.52 โดยสามารถนับเวลาการปฏิบัติภารกิจได้รวม 10 เดือน 6 วัน จากที่ได้วางแผนไว้เป็นระยะเวลา 2 ปี
จันทรายาน-2 ได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศเมื่อ 22 ก.ค.62 เวลา 1443 ตามเวลาท้องถิ่น จาก Satish Dhawan Space Centre ประเทศอินเดีย ซึ่งได้เดินทางเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ เมื่อ 20 ส.ค.62 โดยยาน Vikram Lander มีกำหนดลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์แบบ Soft Landing ในวันที่ 6 ก.ย.62
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2019/10/3-2-1024x338.jpg)
สถานการณ์ล่าสุด
การปฏิบัติการลงจอดแบบ Soft Landing บนพื้นผิวของดวงจันทร์ของยาน Vikram Lander เป็นไปตามแผน จนกระทั่งยาน Vikram Lander ลดระดับความสูงถึง 2.1 กิโลเมตร เหนือระดับพื้นผิวขั้วใต้ของดวงจันทร์ ได้เกิดเหตุขัดข้องทำให้ขาดการติดต่อกับศูนย์ควบคุม ISRO ซึ่งในขณะนี้ จันทรายาน-2 ในส่วนของ Orbiter ที่โคจรอยู่รอบดวงจันทร์ได้พบร่องรอยของ Vikram Lander แล้ว และสามารถระบุตำแหน่งได้จากการตรวจจับความร้อน โดยความพยายามในการกู้คืนสถานภาพในการติดต่อสื่อสารจะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางผู้อำนวยการองค์การวิจัยทางอวกาศของอินเดีย จะนำข้อมูลการเดินทางของจันทรายาน-2 ไปวิเคราะห์รายละเอียดหาสาเหตุข้อขัดข้องต่อไป ทั้งนี้ จันทรายาน-2 ในส่วนของ Orbiter จะยังคงสามารถโคจรรอบดวงจันทร์และปฏิบัติภารกิจตามแผนอีกเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อถ่ายภาพพื้นผิว ตรวจหาแหล่งน้ำ และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์