![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2022/01/20220126-8.png)
Space Micro บริษัทคู่สัญญาของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาและ NASA ชนะสัญญาการออกแบบ เทอร์มินัลของระบบสื่อสารด้วยแสง (laser communications terminal) สำหรับไว้เชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างอากาศยานทางทหาร ด้วยดาวเทียมในชั้นวงโคจรค้างฟ้า (Geostationary Satellites)
AFWERX หน่วยงานของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ซึ่งร่วมทำงานกับบริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยี ได้ทำการเลือกบริษัท Space Micro ในสัญญาชนิด Small Business Technology Transfer Phase 1 เพื่อพัฒนา Pod สำหรับการสื่อสารด้วยแสงแบบ Air-to-space ซึ่งจะนำไปติดตั้งบนอากาศยานของทหารและโดรนแบบไร้คนบังคับ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างปฏิบัติการทางอากาศ (In-flight)
การประยุกต์ใช้การสื่อสารด้วยแสงบนอากาศยานไปยังอวกาศนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายด้านเทคนิคอย่างมาก โดยสิ่งที่ยากที่สุดคือวางแนวระหว่างเทอร์มินัลให้ตรงกับดาวเทียม และการระบุตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปคือจะต้องทำสิ่งเหล่านี้ขณะเคลื่อนที่
เทอร์มินัลของระบบสื่อสารด้วยแสงสำหรับโครงการนี้มีอัตราการส่งข้อมูลมากถึง 10 Gbps ทั้งนี้โครงสร้างของเทอร์มินัลจะใช้แบบร่างที่มีอยู่ของบริษัท Space Micro แต่จะมีการเพิ่มขีดความสามารถด้วยเทคโนโลยีแบบ Adaptive Optics โดยมหาวิทยาลัย Hopkins ที่พัฒนาเพื่อ NASA ทั้งนี้บริษัท Space Micro ยังร่วมทีมกับ Rhea Space Activity บริษัทสตาร์ทอัพที่พัฒนาระบบการหาตำแหน่งและควบคุมวงโคจรแบบอัตโนมัติในห้วงอวกาศลึก (Deep-space Autonomous Navigation and Attitude-control System) สำหรับอวกาศยานของทหาร โดย วิศวกรด้านการบินและอวกาศของบริษัท Rhea Space Activity มีแผนการพัฒนา Pod ที่สามารถติดตั้งอยู่ใต้ปีกของเครื่องบินขับไล่อย่าง F-35 ทำให้สามารถสื่อสารระหว่างอวกาศยานที่อยู่เหนือขึ้นไป ซึ่งแนวความคิดคือจะสร้างระบบสื่อสารแบบความเร็วสูงโดยใช้ดาวเทียมเป็นสื่อกลางหลัก ซึ่งจะทำให้อากาศยานสามารถรับ-ส่งข้อมูล ไปยังผู้ใช้งานทางทหารอื่น ๆ ทั่วโลก รวมถึงเครื่องบินในภารกิจลับโดยจะมีขีดความสามารถในการสื่อสารอย่างปลอดภัยระหว่างปฏิบัติภารกิจที่มีความละเอียดอ่อน โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตำแหน่งได้
การแก้ไขความปั่นป่วน (Turbulence) ในชั้นบรรยาโลกที่มีผลต่อขีดความสามารถของระบบสื่อสารด้วยแสง ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ท้าทายในการพัฒนา ซึ่งจะทำอย่างไรทำให้พลังงานของแสงเลเซอร์เพียงพอที่จะทะลุผ่านชั้นบรรยากาศโลกออกไปยังดาวเทียมในอวกาศได้
แปลและเรียบเรียงโดย ร.อ.สุทธิพงษ์ โตสงวน