อิริค เบอร์เกอร์ ผู้แต่งหนังสือ Lift Off ซึ่งเกี่ยวกับเบื้องหลังบริษัทสเปซเอ็กซ์ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับจำนวนการส่งอวกาศยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศโดยภาพรวมของโลกได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับศตวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ.2564 หรือ ค.ศ.2021 มีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมาและเมื่อเทียบกับยุคการแข่งขันด้านอวกาศ (Space Race)
แม้ว่าจะไม่ได้มีการบันทึกอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการยิงนำส่งอวกาศยาน หากแต่มีแหล่งข้อมูลที่สามารถให้รายละเอียดการยิงนำส่ง โดยได้ให้ข้อมูลจำนวนการยิงนำส่งที่ประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมามีจำนวนสูงถึง 133 ครั้งจากการยิงนำส่งทั้งหมด 144 ครั้ง โดยจำนวนนี้ไม่รวมถึงการยิงนำส่งที่ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการสำหรับอวกาศยาน Simorgh ของประเทศอิหร่านจำนวน 2 ครั้งและไม่ประสบความสำเร็จ
อีกทั้งเมื่อปีที่แล้ว การยิงนำส่งเข้าสู่วงโคจรมีจำนวนมากกว่าการยิงนำส่งเมื่อปี ค.ศ.1967 ซึ่งมีสถิติการยิงนำส่งที่ประสบความสำเร็จ 122 ครั้งจากจำนวนการยิงนำส่งทั้งสิ้น 139 ครั้ง และยังมากกว่าเมื่อมีการยิงนำส่งที่สูงที่สุด คือเมื่อปี ค.ศ.1976 ซึ่งประสบความสำเร็จ 125 ครั้งจากการยิงนำส่งทั้งหมด 131 ครั้ง
ผู้เขียนยังกล่าวถึงการยิงนำส่งปี พ.ศ.2564 เป็นปีแห่ง Rocket Renaissance ซึ่งเป็นการกล่าวถึงยุคความเจริญรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นใหม่ของจรวดนำส่ง ตามศัพท์เชิงประวัติศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูเพื่อความเจริญรุ่งเรือง โดยพบว่าในปีที่แล้วจำนวนการยิงนำส่งรวมกับทั้งหมดของทุกชาติได้เพิ่มขึ้นอย่างเท่าตัวเมื่อเทียบกับศตวรรษที่แล้ว คือช่วงปี ค.ศ.2000 – 2010 ซึ่งมีการยิงนำส่งรวมของทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกันต่ำกว่า 70 ครั้งต่อปี
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการยิงนำส่งที่มีจำนวนมากคือการก้าวขึ้นมาขององค์กรอวกาศของจีนภายใต้การนำของรัฐบาลจีนสำหรับการผลักดันกิจการอวกาศของจีนให้ขึ้นมาสู่แนวหน้าของโลกและมีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในด้านการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศและความมุ่งมั่นที่จะเดินทางไปดวงจันทร์พร้อมๆ กับประเทศทางตะวันตก
สำหรับอีกปัจจัยหนึ่งนั้นคือการขับเคลื่อนด้านอวกาศอย่างรวดเร็วของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ทั้งในด้านการยิงนำส่งดาวเทียมสตาร์ลิงค์ (Starlink) ของบริษัทเองและการส่งดาวเทียมของบริษัทให้กับผู้ใช้บริการอื่น ทำให้จำนวนการยิงนำส่งมีจำนวนสูงมาอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้นยังมีปัจจัยจากบริษัทด้านอวกาศเอกชนอื่นที่สำคัญ เช่น บริษัท Rocket Lab ซึ่งสามารถยิงนำส่งได้ 6 ครั้งในปีที่ผ่านมา
หากมองย้อนกลับไปก่อนปี ค.ศ.2010 ประเทศจีนได้ทำการยิงนำส่งน้อยกว่า 10 ครั้งต่อปี แต่ในรอบสิบปีต่อมาแนวคิดด้านอวกาศของประเทศจีนได้เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นนัยสำคัญสำหรับการเพิ่มโครงการอวกาศทางทหารด้วยการส่งดาวเทียมการสำรวจโลก (Earth Observation) และดาวเทียมสื่อสาร (Communication) อีกทั้งเริ่มโครงการสำรวจดวงจันทร์แบบไร้มนุษย์ (Robotic Lunar Exploration Program) และสถานีอวกาศยุคใหม่ (Next Generation Space Station) ยี่งไปกว่านั้นประเทศจีนได้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านอวกาศเชิงพาณิชย์ ด้วยเหตุนี้ทำให้ในปี ค.ศ.2021 ประเทศจีนได้มีการยิงนำส่งรวม 56 ครั้งประสบความสำเร็จ 53 ครั้ง
เป็นที่แน่นอนสำหรับความโดดเด่นด้านอวกาศของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ที่สามารถทำลายสถิตการยิงนำส่งอย่างต่อเนื่องสำหรับการส่งกลุ่มดาวเทียมอินเตอร์เน็ตสตาร์ลิงค์ (Starlink Internet Constellation) ด้วยจรวดนำส่งฟอลคอน 9 (Falcon 9) 31 ครั้ง และประสบความสำเร็จทุกครั้ง โดยในการยิงนำส่งมีเพียงสองครั้งที่ใช้ส่วนสเตทหนึ่ง (First Stage) ที่เป็นของใหม่ สำหรับจรวดนำส่งที่เหลือได้ใช้ส่วนสเตทหนึ่งของเดิมที่เคยใช้นำส่งมาก่อนและนำกลับมาใช้ (Reusable) ทำให้ในปี ค.ศ.2021 เป็นปีแห่งความรุ่งเรืองของบริษัท อีกทั้งเป็นนำเสนอในลักษณะ Flight Proven คือการพิสูจน์แล้วว่าการยิงนำส่งทำได้จริงอย่างปลอดภัยและประสบความสำเร็จ อันเป็นสัญลักษณ์เชิงการตลาดให้กับบริษัทในด้านความน่าเชื่อถือในการยิงนำส่งอีกด้วย
ด้านประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการนำส่งสูงถึง 51 ครั้ง ประสบความสำเร็จ 48 ครั้ง โดยบริษัทสเปซเอ็กซ์ซึ่งมีจรวดนำส่งฟอลคอน 9 มากที่สุด ตามด้วยบริษัท Rocket Lab, United Launch Alliance, Astra, Northrop Grumman, Virgin Orbit และบริษัทอื่นๆ ขณะที่ประเทศรัสเซีย ประเทศกลุ่มยุโรป และ ประเทศอินเดีย ไม่เป็นประเทศหลักในการยิงนำส่งเมื่อปีที่แล้ว
การนับครั้งการยิงนำส่งนี้ไม่รวมถึงการยิงนำส่งลักษณะ Suborbital คือการยิงนำส่งวัตถุอวกาศไปยังความสูงที่เป็นอวกาศแต่อวกาศยานไม่ได้โคจรรอบโลก โดยการยิงนำส่งลักษณะนี้มีบริษัท Blue Origin เป็นผู้นำ ด้วยระบบการยิงนำส่ง New Shepard ที่ทำได้ 6 ครั้งเมื่อปี ค.ศ.2021 โดยในสามครั้งเป็นเที่ยวบินอวกาศ (Spaceflight) ที่มีมนุษย์โดยสารไปด้วย ซึ่งในปีนี้บริษัทตั้งใจที่จะดำเนินการให้ได้เป็นสองเท่าของปีที่แล้ว สำหรับความต้องการการท่องเที่ยวอวกาศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
ปี ค.ศ.2022 น่าจะเป็นปีสำคัญสำหรับการยิงนำส่งลักษณะโคจรรอบโลก (Orbital Launch) ของประเทศจีน ที่อาจจะได้เห็นจำนวนการยิงนำส่งที่สูงมาก โดยทั้งรัฐบาลจีนและบริษัทในอุตสาหกรรมอวกาศต่างพยายามแสดงสัญลักษณ์การดำเนินการที่ไม่มีแนวโน้มจะลดลง อีกทั้งบริษัทสเปซเอ็กซ์ยังคงพยายามส่งดาวเทียมสตาร์ลิงค์ไปสู่วงโคจร ซึ่งยังไม่รวมถึงการยิงนำส่งครั้งใหม่ของบริษัทอื่น ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนรวมทั้งหมด 150 เที่ยวบินของการยิงนำส่ง
ที่มาของข่าวและภาพ :
– https://arstechnica.com/science/2022/01/thanks-to-china-and-spacex-the-world-set-an-orbital-launch-record-in-2021/
– https://en.wikipedia.org/wiki/2021_in_spaceflight
แปลและเรียบเรียง โดย นาวาอากาศเอก พนม อินทรัศมี