ดาวเทียมกาลิเลโอสองดวงได้รับการลำเลียงถึงท่าอวกาศยานของสหภาพยุโรป และพร้อมสำหรับการนำส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศในเดือนหน้าแล้ว โดยดาวเทียมทั้งสองดวงได้รับการบรรจุใส่ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อป้องกันการกระแทกเป็นอย่างดี และได้รับการลำเลียงด้วยอากาศยานแบบ Ilyushin จากศูนย์พัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Research and Technology Center : ESTEC) เมืองนอร์ดวิค ประเทศเนเธอร์แลนด์ ไปยังเมืองคาเยนน์ ณ เฟรนช์เกียนา เมื่อช่วงเย็นของวันพุธที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/10/ตู้คอนเทนเนอร์-1024x683.jpg)
หลังจากที่ได้รับการนำออกมาจากอากาศยานแล้ว ดาวเทียมทั้งสองดวง ซึ่งเป็นดาวเทียมคู่แรกจากทั้งหมด 12 ดวง ภายใต้โครงการดาวเทียมชุดที่ 3 (Batch 3) ของโครงข่ายดาวเทียมกาลิเลโอยุคที่ 1 ที่ได้รับการผลิตโดยบริษัท OHB SE ในเมืองเบรเมน สหพันธรัฐเยอรมนี และบริษัท Surrey Satellite Technology Ltd ในเมืองกิลด์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร จะถูกนำไปเก็บไว้ที่ห้องปลอดเชื้อของท่าอวกาศยาน เพื่อทำการเตรียมพร้อมในขั้นสุดท้ายก่อนนำส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศด้วยจรวดโซยุสไปยังวงโคจรที่ระดับความสูง 23,222 กิโลเมตร (ความสูงระดับ Medium-Earth Orbit) ต่อไป โดยก่อนที่จะได้รับการลำเลียงมาที่ท่าอวกาศยานในเฟรนช์เกียนานั้น ดาวเทียมทั้งสองดวงต่างได้รับการทดสอบภายใต้สภาวะต่าง ๆ ที่ศูนย์ทดสอบ ESTEC ซึ่งเป็นศูนย์การทดสอบดาวเทียมที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป
ดาวเทียมทั้งสองดวงที่จะได้รับการนำส่งในเดือนหน้า จะถูกผนวกรวมเข้ากับโครงข่ายดาวเทียมกาลิเลโอซึ่งมีดาวเทียมอยู่ในปัจจุบันจำนวน 26 ดวง ที่โคจรรอบโลกและทำหน้าที่ให้บริการด้านระบบ Navigation Service อย่างไรก็ตาม โครงการ Batch 3 จะเป็นโครงการสุดท้ายของโครงข่ายดาวเทียมกาลิเลโอยุคที่ 1 ก่อนที่ในปีค.ศ. 2024 ESA จะผลักดันโครงข่ายดาวเทียมกาลิเลโอยุคที่ 2 ขึ้นไปปฏิบัติการบนห้วงอวกาศเพื่อเพิ่มคุณภาพสัญญาณและความแม่นยำในระบบการนำทางของระบบปัจจุบัน
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/10/ภาพจำลอง.jpg)
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับระบบโครงข่ายดาวเทียมกาลิเลโอ
กาลิเลโอเป็นระบบโครงข่ายดาวเทียมนำทาง (Satellite Navigation System) ที่มีความแม่นยำมากที่สุดในโลกในขณะนี้ และมีผู้ใช้งานมากกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก โดยการปฏิบัติงานทั้งหมดของโครงการกาลิเลโอนั้น อยู่ในความรับผิดชอบและเป็นการลงทุนของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency : ESA) และองค์การบริหารโครงการทางอวกาศของสหภาพยุโรป (EU Agency for the Space Programme : EUSPA) ได้ลงนามในข้อตกลงให้ ESA เป็นผู้พัฒนาและผู้รับผิดชอบหลักในโครงการดังกล่าว
แหล่งที่มา : https://www.esa.int/Applications/Navigation/Galileo_satellites_arrive_at_Europe_s_Spaceport
แปลและเรียบเรียง : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน