หลังจากบทความในตอนที่แล้วที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงกล้องโทรทรรศน์อวกาศ 2 ตัว ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์อวกาศคอมพ์ตัน (Compton Gamma Ray Observatory : CGRO) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ทำหน้าที่รับคลื่นรังสีแกมมา และกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา (Chandra X-ray Observatory) ที่เป็นกล้องที่รับคลื่นรังสี X-ray ไปแล้วนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่เหลืออีก 2 ตัว ของโครงการ The Great Observatories ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope : SIRTF) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope : HST)
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/10/20211006-1.jpg)
เริ่มต้นกันด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวสุดท้ายของโครงการที่ องค์การบริหารการบินและอากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ NASA ได้นำส่งขึ้นไปยังห้วงอวกาศด้วยจรวดนำส่ง Delta เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ.2003 โดย NASA คาดหวังให้สปิตเซอร์ทำหน้าที่ในการรับคลื่นรังสีที่มีความยาวคลื่นประมาณ 3 – 180 ไมครอน นั่นคือ รังสีความร้อนอินฟาเรด (Thermal Infared) ที่เกิดจากพลังงานความร้อน หรือวัตถุที่สามารถแผ่รังสีได้ อย่างไรก็ตาม ชั้นบรรยากาศของโลกจะทำหน้าที่ในการปกป้องคลื่นรังสีอินฟาเรดดังกล่าว ไม่ให้เข้าสู่พื้นโลกจึงทำให้กล้องโทรทรรศน์ที่อยู่บนโลกไม่สามารถที่จะรับคลื่นดังกล่าวได้ และนั่นก็เป็นสาเหตุหลักที่ NASA ตัดสินใจส่งกล้องสปิตเซอร์ขึ้นไปนอกชั้นบรรยากาศของโลก โดยจักรวาลของเรานั้นเต็มไปด้วยกลุ่มฝุ่นหมอกในอวกาศหรือที่รู้จักกันในชื่อว่า เนบิวล่า ซึ่งมักเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการรับแสงของกล้องโทรทรรศน์ปกติ แต่เนื่องจากคลื่นอินฟาเรดนั้น สามารถทะลุผ่านอุปสรรคดังกล่าวได้ ทำให้มนุษย์สามารถมองเห็นการเรียงตัวของกลุ่ม จุดศูนย์กลางของกาแล็กซี และการกำเนิดของดาวดวงใหม่ ๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไป ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
แต่หากเราจะเอ่ยถึงกล้องโทรทรรศน์ที่โด่งดังที่สุดที่ประจำการอยู่บนอวกาศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ชื่อของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล จะขึ้นมาเป็นอันดับแรกในความคิดของทุกคนเสมอ นั่นอาจเป็นเพราะกล้องตัวนี้เป็นกล้องตัวแรกของโครงการ The Great Observatories ทั้ง 4 ตัว และได้รับการนำส่งโดยกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีขึ้นไปปฏิบัติภารกิจอยู่บนห้วงอวกาศตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 เป็นต้นมา
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ทำหน้าที่ในการตรวจคลื่นวิทยุที่มีความถี่ในช่วงที่มนุษย์มองเห็นด้วยตาเปล่า คลื่นที่อยู่ใกล้ช่วงอินฟาเรด และคลื่นรังสี Ultraviolet โดยที่กล้องตัวนี้ ได้รับการซ่อมแซมและปรับปรุงถึง 2 ครั้ง ได้แก่ครั้งแรกในปี ค.ศ.1993 และครั้งที่สองในปี ค.ศ.1997
นับตั้งแต่ช่วงก่อนที่จะนำส่งนั้น กล้องฮับเบิลได้ถูกวางแผนให้ปฏิบัติภารกิจของ NASA หลากหลายภารกิจ และNASA ก็ได้วางแผนที่จะใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวนี้ในระยะยาว ซึ่งด้วยระยะทาง 380 ไมล์จากพื้นโลก กล้องฮับเบิลได้ทำให้นักดาราศาสตร์ได้เข้าใจการเกิด ดับ และการเปลี่ยนแปลงของกาแล็กซีและดวงดาว รวมถึงพิสูจน์ให้เห็นว่าหลุมดำนั้นมีอยู่จริง ไม่ใช่เพียงแค่ทฤษฎีที่ยกขึ้นมาลอย ๆ ตลอดจนได้สร้างประโยชน์อันมหาศาลให้กับมนุษยชาติด้านองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ผ่านงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ออกมานับพันชิ้น
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/10/20211006-2.jpg)
แหล่งที่มา :
- https://www.nasa.gov/audience/forstudents/postsecondary/features/F_NASA_Great_Observatories_PS.html
- https://www.nasa.gov/press-release/nasa-s-spitzer-space-telescope-ends-mission-of-astronomical-discovery
- https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Hoffman_and_Musgrave_EVAjpg
ผู้เรียบเรียง : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน