ใกล้จะสิ้นสุดเดือนกันยายน เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ แต่สำหรับฟากฟ้าแล้ว ไม่มีวันสิ้นสุด ทุกสิ่งบนท้องฟ้ายังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เป็นวัฏจักรไม่มีสิ้นสุด เรามาดูกันว่าในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ มีปรากฏการณ์สำคัญอะไรกันบ้าง
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/09/Autumnal-Equinox.jpg)
– วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) ในวันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน 2564 เวลา 02:21 (วันพุธที่ 22 กันยายน เวลา 19:21 GMT) เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตรงได้ฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ซึ่งจะเกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในวันนี้กลางวันจะเท่ากับกลางคืน เป็นเครื่องหมายของการเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงในซีกโลกเหนือ หรือที่เรียกว่า วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) สำหรับวัน Equinox ใน 1 ปี จะเกิดขึ้น 2 ครั้งดังที่กล่าวข้างต้น ครั้งแรกคือ วันวสันตวิษุวัต (vernal equinox) ซึ่งได้เกิดขึ้นไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นการเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือ และที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ก็คือ วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) นั่นเอง
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/09/Third-Quarter-Moon.jpg)
– ปรากฎการณ์ดวงจันทร์ข้างแรมครึ่งดวง (Third Quarter Moon) วันพุธที่ 29 กันยายน 2564 หลังจากวันเพ็ญ (Full Moon) หรือพระจันทร์เต็มดวงในวันอังคารที่ 21 กันยายนแล้ว ดวงจันทร์จะเข้าสู่ช่วงข้างแรม และถัดมาอีก 8 วัน หรือวันพุธที่ 29 กันยายน เวลา 08:57 (เวลา 01:57 GMT) ในวันนี้ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งมุมฉากระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้เรามองเห็นด้านสว่างและด้านมืดของดวงจันทร์มีขนาดเท่ากันในคืนของวันดังกล่าว สำหรับบ้านเราแล้ววันนี้คือ “วันพระ”รอบสุดท้ายของเดือนกันยายนนั่นเอง ไปลองสังเกตกัน เห็นแล้วมาบอกเล่าสู่กันฟังด้วยนะครับ!
ที่มา : https://www.space.com/33974-best-night-sky-events.html
แปลและเรียบเรียง : ricebird572