เมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ.2021 อวกาศยานสำรวจ Trace Gas Orbiter (TGO) ของโครงการ ExoMars ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย (Roscosmos) ได้ใช้กล้อง CaSSIS ที่ได้รับการติดตั้งบนอวกาศยาน ดำเนินการถ่ายภาพกลุ่มภูเขาไฟเกิดใหม่ บริเวณที่ราบสูงเอลิเซียม (Elysium) บนดาวอังคาร
ภาพที่อวกาศยาน TGO ส่งกลับมายังโลก ได้เปิดเผยให้เห็นแนวร่องสีน้ำเงิน 2 ร่อง ซึ่งมีชื่อว่า Ceberus Fossae ทอดตัวขนานกันพาดผ่านบริเวณกลุ่มภูเขาไฟเป็นระยะทางมากกว่า 1,000 กิโลเมตรและมีความกว้างมากกว่า 2 กิโลเมตร โดยผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าร่องดังกล่าวเกิดจากกระบวนการแปรสัณฐาน (Tectonic Process) หรือการเคลื่อนตัวของเปลือกดาวอังคารอันเป็นผลจากแรงต่าง ๆ ที่กระทำต่อดาวอังคาร และทำให้โครงสร้างพื้นผิวของดาวอังคารที่ประกอบเป็นเปลือกดาวอังคารเกิดการแปรสภาพไปเป็นภูมิประเทศแบบต่าง ๆ
ทั้งนี้ เมื่อนำภาพที่ถ่ายแนวร่องดังกล่าว ซึ่งมีความลึกหลายร้อยเมตร มาประมวลผลด้วยระบบประยุกต์ภูมิสารสนเทศของกล้อง CaSSIS ให้เกิดเป็นภาพถ่ายดาวเทียมชนิดสีผสมเท็จ (False Color Image) จึงเผยให้เห็นสีน้ำเงินบริเวณร่อง ทำให้นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าทรายหยาบที่ปกคลุมอยู่บริเวณดังกล่าว รวมถึงที่ราบภูเขาไฟ ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน อาจมีองค์ประกอบพื้นผิวหลักเป็นหินบะซอลท์
อวกาศยาน TGO ได้เดินทางมาถึงวงโคจรของดาวอังคารเมื่อ ค.ศ.2016 และเริ่มปฏิบัติงานเต็มรูปแบบตั้งแต่ ค.ศ.2018 โดยมีภารกิจหลักในการถ่ายภาพพื้นผิว ตรวจสอบองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศ และดำเนินการจัดทำแผนที่พื้นผิวของดาวอังคารเพื่อหาบริเวณที่คาดว่าจะมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่อยู่ นอกจากนี้ อวกาศยาน TGO จะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงระบบการสื่อสารให้กับอวกาศยาน Rosalind Franklin และ Kazachok ที่จะเดินทางมาถึงดาวอังคารในเดือนมีนาคม ค.ศ.2023
แหล่งที่มา : https://www.esa.int/ESA_Multimedia/Images/2021/09/Volcanic_trenches_on_Mars#.YT72NvBXzk4.link
แปลและเรียบเรียงโดย : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน