กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James
Webb) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ
สหรัฐอเมริกา (NASA)
องค์การอวกาศยุโรป (ESA)
และองค์การอวกาศแคนาดา (CSA)
ได้ผ่านการทดสอบในขั้นตอนสุดท้ายที่ศูนย์การทดสอบของบริษัท Northop
Grumman รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
และกำลังได้รับการเตรียมการขนส่งไปยังฐานปล่อยจรวดของ
ESA ที่ตั้งอยู่
ณ เฟรนช์เกียน่า บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของบริเวณชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้
กล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นล่าสุดนี้ จะถูกบรรจุอยู่ในส่วน Upper Stage ของจรวดนำส่ง Ariane 5 ซึ่งมีกำหนดการนำส่งภายในปลายปีนี้ โดยส่วน Upper Stage และส่วนประกอบอื่น ๆ ของจรวด Ariane 5 กำลังได้รับการลำเลียงจากบริษัท ArianeGroup ในเมืองเบรเมนไปยังท่าเรือเมืองนอยชตัดท์ ประเทศเยอรมนี เพื่อทำการขนส่งด้วยเรือบรรทุกสินค้าไปยังจุดหมายปลายทาง คือ เมืองคูรู ของเฟรนช์เกียน่า
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/09/esa1.jpg)
หลังจากที่จรวด Ariane 5 ได้รับการจุดระเบิดและออกจากฐานปล่อยจรวดเป็นเวลา 26 นาทีแล้ว กล้องโทรทรรศน์เวบบ์จะทำการแยกตัวออกจากจรวดนำส่ง และทำการกางแผงโซลาร์เซลล์ออกโดยอัตโนมัติ ในขณะเดียวกัน ระบบติดตามอวกาศยานของ ESA (ESA’s tracking station network : ESTRACK) จะเริ่มทำการติดตามกล้องโทรทรรศน์อวกาศดวงนี้ในขณะทำการเปลี่ยนวงโคจรหลังจากแยกตัวจากจรวดนำส่ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่าง ESA และ NASA
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเวบบ์จะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนในการเดินทางไปยังวงโคจรที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งห่างจากโลกออกไปประมาณหนึ่งล้านไมล์ โดยในระหว่างนี้ กล้องโทรทรรศน์จะเริ่มทำการกางแผงกั้นแสงอาทิตย์ออก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญจากสถานีภาคพื้นเพื่อป้องกันปัญหาทางเทคนิคที่อาจจะเกิดขึ้น
เมื่อแผงกั้นแสงอาทิตย์เริ่มทำการกางออก ส่วนของกล้องโทรทรรศน์และอุปกรณ์ส่วนอื่น ๆ จะอยู่ในร่มเงาของแผงกั้น ทำให้อุปกรณ์เหล่านี้มีอุณหภูมิที่ลดต่ำลง ซึ่งจะได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด เพราะจะต้องมีการควบคุมระบบทำความร้อนสำหรับกล้องโทรทรรศน์ควบคู่กันไปด้วย โดยในระหว่างนี้ ขาตั้งและกระจกสำรองจะกางออก จากนั้นกระจกหลักจะกางออก อุปกรณ์ต่าง ๆ ของกล้องโทรทรรศน์จะค่อย ๆ เปิดขึ้น และจะทำการจุดระเบิดเพื่อขับดันกล้องโทรทรรศน์ไปยังวงโคจรที่กำหนด
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/09/esa2-1024x576.jpg)
(ที่มา ESA.int)
เมื่อกล้องโทรทรรศน์เริ่มมีอุณหภูมิลดต่ำลงจนถึงเกณฑ์อุณหภูมิสำหรับปฏิบัติการแล้ว กระบวนการปรับตำแหน่งรวมถึงการตั้งค่าของอุปกรณ์ต่าง ๆ จะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งจะกินระยะเวลาหลายเดือน โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศดวงนี้จะพร้อมสำหรับการปฏิบัติการหลักจากการนำส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศภายใน 6 เดือน
โครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ถือเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่แสดงถึงความร่วมมือของมนุษยชาติ ที่ระดมสรรพกำลังของ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ หลายพันคนจากมากกว่า 14 ประเทศ เพื่อทำการออกแบบและสร้างกล้องโทรทรรศน์สำหรับการหาคำตอบเกี่ยวกับจักรวาลอันไกลโพ้น ซึ่งไม่เคยมีกล้องโทรทรรศน์ดวงใดสามารถทำได้มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาคำตอบการกำเนิดของจักรวาล ตั้งแต่การสังเกตรูปแบบของกลุ่มก้อนดวงดาว ไปจนถึงการกำเนิดของกาแล็กซีต่าง ๆ
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/09/esa3.jpg)
(ที่มา ESA.int)
แปลและเรียบเรียง : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน