ปัจจุบันการปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศโดยเฉพาะเพื่อไปปฏิบัติภารกิจการนำส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากพิจารณาจำนวนครั้งของการปล่อยจรวดรวมในแต่ละปีจะพบว่า ในห้วง 3 ปีล่าสุด (ค.ศ.2018 – 2020) ทุกปีมีการปล่อยจรวดไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ครั้ง (114, 102, 114 ครั้งต่อปี ตามลำดับ) เนื่องด้วยความต้องการใช้งานดาวเทียมมีมากขึ้น ซึ่งในห้วงที่ทำการปล่อยจรวดนั้น จรวดจะเคลื่อนที่ขึ้นไปในอากาศด้วยความเร็วสูงที่สุดเพื่อหนีจากแรงโน้มถ่วงของโลก จึงจะต้องมีการใช้พื้นที่ห้วงอากาศ (Airspace) ร่วมกับอากาศยาน ดังนั้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดและเป็นการลดโอกาสของการเกิดอุบัติเหตุอันอาจเกิดจากจากการชนกันระหว่างจรวดหรือชิ้นส่วนของจรวดกับอากาศยานที่ทำการบินใน Airspace นั้นในระหว่างทำการปล่อยจรวด องค์กรที่กำกับดูแลด้านการบินในแต่ละประเทศที่ทำการปล่อยจรวดจะกำหนดพื้นที่ห้ามบินชั่วคราว เพื่อมิให้อากาศยานเข้ามาในบริเวณนั้นเป็นการชั่วคราว หรือที่เรียกว่า Temporary Flight Restriction (TFR)
ขอยกตัวอย่างอ้างอิงเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น ในห้วงที่จะมีการปล่อยจรวดจากท่าอวกาศยานที่ Cape Canavero ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของมลรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา องค์การ Federal Aviation Administration (FAA) จะมีคำสั่ง TFR ในช่วงเวลาที่ครอบคลุมการปล่อยจรวดทั้งในห้วงก่อนและหลัง รวมแล้วไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง โดยครอบคลุมพื้นที่ที่จรวดจะเคลื่อนที่ผ่านเป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออกบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นระยะทางมากถึงประมาณ 1,300 ไมล์ นั่นหมายถึงอากาศยานที่ทำการบินอยู่ในย่านนั้นจะได้รับผลกระทบโดยต้องเปลี่ยนแปลงแผนการบิน เส้นทางการบิน รวมทั้งปริมาณน้ำมันสำรอง โดย FAA ประมาณการว่าเที่ยวบินที่ได้รับผลกระทบในแต่ละปีจะมีประมาณ 1,400 เที่ยวบิน และมีระยะทางที่จะต้องบินเพิ่มขึ้นประมาณ 70,000 ไมล์
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/06/20210630-2-1024x492.png)
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/06/20210630-3-1024x287.png)
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/06/20210630-4.png)
ทั้งนี้เมื่อมีความต้องการใช้งานห้วงอากาศร่วมกันจึงอาจเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากขึ้น และในบางกรณีสามารถตรวจพบการฝ่าฝืนกฏข้อห้ามดังกล่าว และส่งผลถึงความปลอดภัยในการใช้งานห้วงอากาศอย่างมีนัยสำคัญ อาทิเช่น บริษัท SpaceX ได้ทำการทดสอบการปล่อยจรวดในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีการ TFR ซึ่งทำให้ได้รับการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการจาก FAA หลายครั้ง หรือในกรณีที่มีอากาศยานเข้าไปในพื้นที่ TFR ในระหว่างการปล่อยจรวด Falcon-9 เมื่อ 29 มิ.ย.2021 ทำให้การปล่อยจรวดต้องถูกยกเลิกไปก่อนถึงกำหนดการเพียง 11 วินาที
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/06/20210630-5-708x1024.jpg)
ข้อมูลเพิ่มเติม : TFR สามารถถูกกำหนดได้มาจากหลายเหตุผลและในบางพื้นที่ก็จะถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ห้ามบินถาวร (Permanent TFR) เช่น พื้นที่ทางทหาร พื้นที่ในจุดที่สำคัญของประเทศ หรือแม้กระทั่งพื้นที่ที่ไม่ควรมีเครื่องบินผ่าน เช่น บริเวณสวนสนุก Walt Disney World มลรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ที่มา
https://www.spacelaunchreport.com/logyear.html
https://www.washingtonpost.com/graphics/2018/business/spacex-falcon-heavy-launch-faa-air-traffic/
แปลและเรียบเรียง : น.ท.รณชัย วุฒิวิทยารักษ์