จากข่าวก่อนหน้านี้ ได้เกริ่นไว้ว่าเดือนพฤษภาคมนี้มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับอวกาศเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันถัดไปจนกระทั่งหมดเดือนแห่งกระทิงดุนี้ แต่หลายๆเหตุการณ์เราไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า หลายเหตุการณ์ไม่สามารถนำไปโม้ในกลุ่มเพื่อน และอีกหลายเหตุการณ์ไม่สามารถใช้เป็นอีเว้นท์หวานแหววกับหวานใจได้ แต่เหตุการณ์นี้คุณจะสามารถนำเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวคุณ(และหวานใจได้) แต่อย่าลืมรักษาระยะห่างกันด้วยนะ!
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/05/20210511-6-1024x551.png)
ปรากฏการณ์ Super full moon และ จันทรุปราคา ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาของบ้านเราอีกด้วย วันนั้นดวงจันทร์จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดที่ระยะ 222,022 ไมล์ (357,311 กม.) ในเวลา 2200 EDT (0900 ของวันที่ 26 พ.ค.ตามเวลาประเทศไทย) หลังจากนั้นอีก 9 ชั่วโมงดวงจันทร์ก็จะเต็มดวง (Full Moon) อย่างเป็นทางการ และถัดมาในหัวค่ำของวันเดียวกัน ตั้งแต่เวลา 1811-1826 (ตามเวลาประเทศไทย) จะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ซึ่งเห็นได้เพียง 15 นาที บริเวณที่จะเห็นจันทรุปราคาครั้งนี้ ได้แก่ อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเชีย ออสเตรเลีย แอนตาร์กติกา มหาสมุทรแปซิฟิก และด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย แต่ในบ้านเราจะสามารถเห็นได้เพียงช่วงครึ่งหลังของปรากฏการณ์ อันเนื่องมาจากดวงจันทร์ยังไม่ขึ้นเหนือขอบฟ้าของบ้านเรา แต่เมื่อดวงจันทร์ได้ขึ้นเหนือขอบฟ้าแล้ว เราจะสามารถเห็นจันทรุปราคาบางส่วนได้ โดยเงามืดจะอยู่ทางด้านขวาของดวงจันทร์ และเมื่อสิ้นสุดจันทรุปราคา(1826) ดวงจันทร์ก็จะยังไม่สว่างเต็มที่เนื่องจากยังอยู่ในเงามัวต่อไปอีกราว 1 ชั่วโมง
ที่มา :
– https://www.space.com/39231-top-skywatching-events-this-year.html
– https://www.space.com/16149-night-sky.html
แปลและเรียบเรียง : ricebird572