หากยังจำกันได้ โครงการอวกาศที่ใหญ่ที่สุดในช่วงปี 1968-1972 คือโครงการอะพอลโล (Apollo Project) ที่จะพามนุษย์อวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ โดยจากยานอะพอลโลที่ไปถึงดวงจันทร์ 9 ลำมี 6 ลำที่ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ โดยประเดิมก้าวสำคัญของมวลมนุษยชาติด้วยการเดินทางของอะพอลโล 11 ที่พา นีล อาร์มสตรอง บัซ อัลดริน และไมเคิล คอลลิน สร้างประวัติศาสตร์ได้ก่อนจะปิดฉากด้วยยานอะพอลโล 17 รวมมีมนุษย์ 12 คนได้เดินบนดวงจันทร์ และไม่เคยมีการเดินทางไปยังดวงจันทร์อีกเลย
ยานอะพอลโล 17 เดินทางขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 7 ธันวาคม 1972 โดยใช้จรวด Saturn V หมายเลข SA-512 จากฐานปล่อยจรวดศูนย์อวกาศเคนเนดี พร้อมยานบังคับการชื่อว่า America และยานลงจอดบนดวงจันทร์ชื่อว่า Challengerภารกิจเดินทางไปดวงจันทร์ในครั้งนี้ประกอบด้วยนักบินอวกาศ 3 คน ผู้บังคับการ Eugene A. Cernan นักบินอวกาศ Ronald E. Evans และนักบินอวกาศ Harrison H. Schmitt สำหรับนักบินอวกาศ Harrison H. Schmitt เป็นนักธรณีวิทยาคนแรกและเป็นเพียงนักธรณีวิทยาคนเดียวที่เคยเดินทางไปสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ ในขณะที่ยานเดินทางไปดวงจันทร์นักบินอวกาศได้ถ่ายภาพโลกที่มีชื่อเสียงชื่อภาพว่า The Blue Marble โลกสีฟ้าท่ามกลางความมืดมิดของอวกาศในหนังสือวิทยาศาสตร์ หลังจากยานลงจอดบนดวงจันทร์ Challenger ลงจอดบนดวงจันทร์บนบริเวณที่เรียกว่า Taurus-Littrow พื้นที่บริเวณเกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาต
![ภาพนักบินอวกาศ Eugene A. Cernan , Ronald E. Evans , Harrison H. Schmitt](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/05/20210511-4.png)
ผู้บังคับการ Eugene A. Cernan และนักบินอวกาศ Harrison H. Schmitt ทำภารกิจสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์นานประมาณ 3 วัน ยาวนานมากที่สุดหากเทียบกับภารกิจอะพอลโลครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเก็บก้อนหินตัวอย่างจากดวงจันทร์หนัก 110 กิโลกรัม ถ่ายภาพมากกว่า 2,400 รูป ก่อนเดินทางขึ้นจากดวงจันทร์ Eugene A. Cernan ได้เขียนชื่อลูกสาวตัวเองเป็นอักษรย่อ 3 ตัวไว้บนผิวดวงจันทร์ นอกจากนี้ยานอะพอลโลยังทิ้งแผ่นป้ายจารึกข้อความว่า “สถานที่นี้มนุษยชาติได้เดินทางมาสำรวจดวงจันทร์ในเดือนธันวาคม 1972 ขอให้จิตวิญญาณแห่งสันติสุขได้เกิดขึ้นกับมนุษยชาติทั้งมวล ” ไว้บนผิวดวงจันทร์และจะคงอยู่ที่นั่นไปอีกหลายล้านปี หลังจาก Apollo 17 (อะพอลโล17) กลับถึงโลก ในวันที่ 19 ธันวาคม 1972 ถือว่าเป็นภารกิจสุดท้ายของ NASA ก็ว่าได้ที่ส่งมนุษย์ขึ้นไปบนดวงจันทร์ อะพอลโล 17 เป็นภารกิจที่หกในโครงการอะพอลโล ที่สำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ แต่เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบดวงจันทร์ได้โดยตรง
![ภาพนักบินอวกาศ Eugene A. Cernan พร้อมยานสำรวจ](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/05/20210511-5.png)
แต่ในโลกยุคปัจจุบัน ที่เราก้าวหน้าไปด้วยวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่โทรศัพท์มือถือของเรามีความสามารถมากกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของยานอะพอลโลทั้งลำ อินเตอร์เน็ตที่สามารถเชื่อมต่อโลกทั้งใบเอาไว้ในอุ้งมือ และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมอีกมากตลอดกว่า 50 ปีที่ผ่านมา แล้วเพราะเหตุใดเราจึงยังไม่กลับไปยังดวงจันทร์อีก?
– ค่าใช้จ่าย เหตุผลที่ง่ายที่สุด ก็คือ การไปดวงจันทร์นั้นสิ้นเปลืองเป็นอย่างมาก โครงการอะพอลโลนั้นมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นกว่า 25.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเทียบเท่าเป็นเงินปัจจุบันกว่าสองแสนเหรียญสหรัฐ(เทียบเท่า 6.5 ล้านล้านบาท) ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ๆ นั้น หมดไปกับจรวด Saturn V ที่ต้องมีพลังมากพอที่จะส่งน้ำหนักบรรทุกออกจากแรงโน้มถ่วงของโลก ไปยังดวงจันทร์ แม้กระทั่งทุกวันนี้ Saturn V ก็ยังคงเป็นจรวดที่สูงที่สุด น้ำหนักมากที่สุด มีกำลังมากที่สุด และเคยแบกน้ำหนักบรรทุกมากที่สุด เท่าที่เคยมีการใช้งานมาในประวัติศาสตร์ จรวด Saturn V เพียงลำหนึ่ง คิดเป็นเงินถึง 375 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 1969 และหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ ในปัจจุบัน เทียบกันกับจรวดของ SpaceX ในยุคปัจจุบันที่มีค่าใช้จ่ายเพียง
133 ล้านเหรียญสหรัฐ
– สงครามเย็น และการสนับสนุนจากประชาชน ในช่วงยุคของโครงการอะพอลโลนั้น มหาอำนาจของโลกกำลังตกอยู่ในช่วงยุคของความหวาดกลัวจากสงครามเย็น เมื่อสหรัฐและสหภาพโซเวียตต่างก็มีกำลังมากพอที่จะสามารถทำลายล้างซึ่งกันและกันได้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ จึงไม่มีฝ่ายใดที่ต้องการจะเสี่ยงที่จะปะทะกันซึ่งๆ หน้าโดยตรง การส่งดาวเทียมไปโคจรรอบโลกของรัสเซียจึงไม่เพียงแต่เป็นการประกาศศักดาความสำเร็จของระบอบสังคมนิยม แต่ยังเป็นการประกาศว่ารัสเซียนั้นมีแสนยานุภาพเพียงพอที่จะส่งจรวดนิวเคลียร์ไปโคจรเหนือทวีปอเมริกาเหนือจากที่ใดก็ได้
– ความคุ้มค่าในเชิงวิทยาศาสตร์ ถึงแม้ว่าการไปเหยียบดวงจันทร์จะมอบอะไรให้เรามากมาย หินจากดวงจันทร์ ธรณีวิทยาดวงจันทร์ แม้กระทั่งทุกวันนี้กระจกที่ติดตั้งเอาไว้โดยนักบินอวกาศ อะพอลโล ทำให้เราสามารถวัดระยะห่างระหว่างดวงจันทร์ได้อย่างแม่นยำ ศึกษาการถอยห่าง การส่าย ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การไปเหยียบดวงจันทร์นั้น ไม่ได้มีความคุ้มค่าทางวิทยาศาสตร์เท่าไรเลยเมื่อเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายไป ทุกวันนี้เราสามารถส่งหุ่นยนต์ไปเหยียบดวงจันทร์ ดาวอังคาร หรือแม้กระทั่งสำรวจดาวพลูโต ด้วยค่าใช่จ่ายที่น้อยกว่าการส่งมนุษย์เป็นอย่างมาก เพราะว่าหุ่นยนต์นั้นมีความต้องการที่น้อยกว่ามนุษย์เป็นอย่างมาก และเราไม่จำเป็นต้องกังวลถึงการส่งหุ่นยนต์กลับมาเยือนบนโลกอีก นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าหลังจาก ภารกิจ Apollo 17 ทำไมถึงไม่มีการเดินทางไปดวงจันทร์อีกเลย
แหล่งที่มา :
– https://solarsystem.nasa.gov/missions/apollo-17/in-depth/
– https://moon.nasa.gov/exploration/moon-
– https://www.extremetech.com/extreme/186600-apollo-11-moon-landing-45-years-looking-back-at-mankinds-giant-leap?fbclid=IwAR20YUlnYjcVMpTMi1252eMMYfXW6uNWUHm5IBoj2yejkW8F-fRTIiAR5Uk
เรียบเรียง : นาย จิรวัฒ พลานุสนธิ์