ภารกิจมุ่งสู่ดวงจันทร์ครั้งแรกของโครงการ Artemis อยู่ในระหว่างการทดสอบขั้นสุดท้าย ทีมงานได้ดำเนินการทดสอบลำดับการนับถอยหลังภายในอาคารประกอบครั้งที่ 2 ในวันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2565 โดยระบบการทำงานสมบูรณ์ไม่มีปัญหาใหญ่ตามรายงาน
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2022/01/20220126-5.png)
การทดสอบแสดงให้เห็นซอฟต์แวร์การยิงนำส่งภาคพื้นดินและตัวควบคุมภาคพื้นดินเพื่อตรวจสอบสภาพความสมบูรณ์ของระบบ และสถานภาพของจรวดขณะอยู่บน Launch Pad โดยอีกฟังค์ชันหนึ่งของการทดสอบคือการทำให้จรวด Space Launch System (SLS) และอวกาศยาน Orion มีลำดับการทำงานร่วมกันอย่างเหมาะสมกับโปรแกรมจัดลำดับ
การจำลองการนับถอยหลังเป็นการทดสอบการตอบสนองจากจรวดและอวกาศยานเพื่อให้แน่ใจว่าลำดับการทำงานถูกต้องในวันยิงนำส่ง โดยลำดับการทำงานของระบบการยิงนำส่งภาคพื้นดินจะส่งต่อให้กับจรวดและอวกาศยาน หลังจากนั้นโปรแกรมการจัดลำดับอัตโนมัติจะเข้าควบคุมจรวดจากตัวควบคุมภาคพื้นดินประมาณ 30 วินาทีก่อนการยกตัว
ภารกิจ Artemis 1 ตั้งเป้าหมายส่งอวกาศยานไร้ลูกเรือไปโคจรรอบดวงจันทร์โดยใช้จรวด SLS ที่ไม่เคยถูกใช้มาก่อนและอวกาศยาน Orion ที่เคยบินทดสอบแล้ว โดยภารกิจนี้และโครงการในอนาคตจะต้องเป็นไปตามแผนกำหนด ซึ่งแผนภารกิจ Artemis 2 จะไปโคจรรอบดวงจันทร์ในปี พ.ศ.2567 จากนั้นปี พ.ศ.2568 จะลงจอดพร้อมกับนักอวกาศในภารกิจ Artemis 3
ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำก่อนที่ Artemis 1 จะเข้าสู่การทดสอบ Wet Dress Rehearsal ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะบรรจุเชื้อเพลิงขับเคลื่อนเข้าไปในจรวด SLS และให้ทีมภาคพื้นดินเข้าดำเนินการต่อก่อนการยิงนำส่งเพื่อให้แน่ใจว่าระบบทั้งหมดพร้อมทำงาน
การดำเนินการต่อไปทีมจะทำการทดสอบทางวิศวกรรมเฉพาะโปรแกรมขั้นสุดท้ายสำหรับภารกิจ Artemis 1 ทีมจะดำเนินการตรวจสอบขั้นสุดท้ายและปิดระบบการทดสอบจรวดต่อไป เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทดสอบ Wet Dress Rehearsal ในเดือนหน้า การทดสอบทั้งหมดดำเนินการภายในอาคารประกอบยานของ Kennedy Space Center (VAB) ในฟลอริดา ซึ่งเป็นอาคารเดียวกับที่ใช้ทดสอบจรวด Apollo Saturn V และสร้างขึ้นในทศวรรษ 1960 และ 1970
ที่มา : https://www.space.com/nasa-artemis-1-countdown-test
https://en.wikipedia.org/wiki/Orion_(spacecraft)
แปลและเรียบเรียง พ.อ.ท.ธีรพงษ์ เข็มทอง