![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2022/01/20220120-6-1024x474.png)
สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูง หรือ Defense Advanced Research Projects Agency (DARPA) วางแผนทดสอบการนำส่งอวกาศยานที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนจากเชื้อเพลิงพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นสู่วงโคจร ภายใต้โครงการ Demonstration Rocket for Agile Cislunar Operations (DRACO) ซึ่งมีมูลค่าของการลงทุนมากถึง ๓๐ ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหากการทดสอบดังกล่าวประสบความสำเร็จ จะเป็นการปูทางสำหรับ
การพัฒนาระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ให้กับดาวเทียมภาคทหารของสหรัฐฯ ทั้งนี้จึงได้มีการเรียกร้องไปยังกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้เพิ่มงบประมาณลงทุนในโครงการฯ ด้วย
โครงการนี้ถือเป็นการเดิมพันด้านอวกาศครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ โดยเทคโนโลยีของระบบขับเคลื่อนดังกล่าวจะสามารถทำให้ดาวเทียมของสหรัฐฯ มีความได้เปรียบเหนือศัตรู จากการที่ดาวเทียมเคลื่อนที่ได้มากขึ้น จึงทำให้ลดความเสี่ยงต่อการถูกโจมตี แต่ข้อกังขาและความน่ากลัวของพลังงานนิวเคลียร์ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องศึกษาและตระหนักรู้เพื่อให้ประชาชนทั่วไปไม่รู้สึกกังวลใจในการใช้พลังงานนิวเคลียร์
ดาวเทียมของสหรัฐฯ ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากเชื้อเพลิงเคมี มีขีดจำกัดสำหรับการเคลื่อนที่ ซึ่งทำให้ตกเป็นเป้าหมายของอาวุธต่อต้านดาวเทียมได้ง่าย ในขณะเดียวกันกองกำลังสงครามเคลื่อนที่ในอวกาศของจีนกำลังเพิ่มอวกาศยานที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยความร้อนนิวเคลียร์และไฟฟ้าเข้ามา เพื่อสร้างขีดสามารถในการเคลื่อนย้ายระหว่างวงโคจรได้อย่างรวดเร็วสำหรับการปฏิบัติภารกิจเชิงรุกและเชิงรับ
ระบบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์มีอายุการใช้งานได้หลายปีในอวกาศ โดยไม่จำเป็นต้องเติมเชื้อเพลิงใหม่ ซึ่งทำให้เป็นเทคโนโลยีที่ต้องการสำหรับภารกิจสำรวจอวกาศห้วงลึก แต่เมื่อหลายสิบปีก่อนสหรัฐฯ ได้ละทิ้งความพยายามในการใช้ดาวเทียมที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงพลังงานนิวเคลียร์ เนื่องจากข้อกังวลเรื่องกัมมันตภาพรังสีของวัตถุที่เป็นอันตราย ซึ่งสามารถกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้ ทั้งนี้ระบบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของระบบดาวเทียมเพื่อสาธิตการทำงาน ถูกสร้างและพัฒนาโดยบริษัท General Atomic ภายใต้สัญญาจาก DARPA มูลค่า ๒๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
DARPA ได้ตระหนักถึงความกังวลด้านความปลอดภัย และประเด็นดังกล่าวอยู่ในระหว่างการศึกษา โดยผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์จากกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ทั้งนี้ดาวเทียมสาธิตระบบขับเคลื่อนเชื้อเพลิงพลังงานนิวเคลียร์ภายใต้โครงการ DRACO นี้ ตั้งเป้าจะยิงนำส่งขึ้นสู่อวกาศภายในปี พ.ศ.๒๕๖๘ อย่างไรก็ตามดาวเทียมสาธิตฯ จะไม่ใช้พลังงานนิวเคลียร์สำหรับการเคลื่อนที่ออกจากพื้นที่โลก แต่จะใช้จรวดนำส่งด้วยพลังงานเคมีแบบทั่วไป ซึ่งครั้งนี้จะใช้ชนิด Low-enriched Uranium เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงสำหรับวัตถุนิวเคลียร์ในช่วงกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลก
Christopher Stone นักวิจัยอาวุโสด้านอวกาศจากสถาบัน Mitchell ได้กล่าวว่ากองทัพอวกาศสหรัฐฯ ควรพิจารณาใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงพลังงานนิวเคลียร์กับระบบที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติ เช่น ดาวเทียม GPS หรือดาวเทียมแจ้งเตือนขีปนาวุธ เพื่อจะสามารถเคลื่อนหลบวิถีโคจรที่อันตราย
หากตกเป็นเป้าหมายของอาวุธต่อต้านดาวเทียมของศัตรู
แปลและเรียบเรียบ : จ.ท.สุณัฏฐชา อักษรวงศ์