จรวด Ariane 5 ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นพาหนะสำหรับการนำส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ได้รับการเคลื่อนย้ายไปยังอาคารประกอบชิ้นส่วน สำหรับการประกอบ Payload เข้ากับตัวจรวดในขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะได้รับการนำส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ทั้งนี้ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของจรวด Ariane 5 ได้รับการขนส่งจากยุโรปมาประกอบบริเวณฐานปล่อยจรวด เมื่อ 29 พ.ย.64
ส่วนท่อนล่างของจรวด Ariane 5 จะประกอบไปด้วยส่วน Core Stage หลัก ที่บรรจุแก๊สออกซิเจนและไฮโดรเจน รวมไปถึงเครื่องยนต์ Vulcain ที่จะทำหน้าที่ในการสร้างแรงขับให้กับตัวจรวด ส่วนที่เป็นตัว Solid Rocket Booster ตลอดจนส่วนที่เป็น Upper Stage ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องยนต์ HM7B และถังบรรจุแก๊สออกซิเจนและไฮโดรเจน รวมไปถึงส่วนที่เรียกว่า Equipment Bay ซึ่งนับได้ว่าเป็นมันสมองสำหรับการควบคุมการขับเคลื่อนของตัวจรวด
สำหรับการเคลื่อนย้ายตัวจรวด Ariane 5 ภายในบริเวณฐานปล่อยจรวดนั้น จะได้รับการลำเลียงโดยรถลำเลียงจรวด (Launch Table) ซึ่งได้เริ่มทำหน้าที่ตั้งแต่ช่วงที่จรวดเดินทางมาถึงฐานปล่อยจรวดเป็นต้นมา
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/12/20211209-3-1024x724.jpg)
ด้านกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ก็ได้รับการเติมเชื้อเพลิงเรียบร้อยและ เตรียมที่จะถูกนำไปติดกับตัวจรวด Ariane 5 ส่วน Upper Stage แล้วจึงประกบด้วย Fairing อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเวบบ์จะกลายเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ใหญ่ที่สุด มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่มนุษย์ได้ทำการส่งไปยังห้วงอวกาศ และเป็นความร่วมมือระดับนานาชาติ ซึ่งประกอบไปด้วย องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ NASA, องค์การอวกาศยุโรปหรือ ESA และ องค์การอวกาศแคนาดา หรือ CSA โดย ESA จะรับหน้าที่ในการพัฒนาและนำส่งกล้องตัวนี้ขึ้นไปบนอวกาศ ด้วยจรวดนำส่งแบบ Ariane5 ร่วมกับบริษัทพันธมิตร เช่น บริษัท Arainespace เป็นต้น
แหล่งที่มา :
https://www.esa.int/Enabling_Support/Space_Transportation/Ariane_5_moved_to_meet_Webb
แปลและเรียบเรียง : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน