การตรวจจับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอวกาศจะช่วยทำให้มนุษยชาติสามารถบรรลุเป้าหมายในการจัดการเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยภารกิจใหม่ที่ถูกประกาศโดยองค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA และศูนย์ติดตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งสหภาพยุโรป หรือ Copernicus ในการประชุม U.N. Climate Change Conference COP26 ที่เมืองกลาสโกว เมื่อวันอังคารที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา คือการสร้างระบบโครงข่ายดาวเทียมเพื่อตรวจจับสภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์จากแต่ละพื้นที่
สำหรับระบบโครงข่ายดาวเทียมดังกล่าวมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า European CO2 Monitoring and Verification Support Capacity (CO2MVS) on anthropogenic emissions ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในการดูแลและพัฒนาของ ESA และ EUMESAT ซึ่งเป็นองค์กรที่กำกับดูแลเกี่ยวกับดาวเทียมสำรวจทางธรณีวิทยาของสหภาพยุโรป โดยเมื่อดาวเทียมได้รับการส่งขึ้นไปยังโคจรแล้ว จะเริ่มทำการวัดระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนได้อย่างมีประสิทธิภาพแบบที่ไม่เคยมีเคยมีมาก่อน
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/11/20211103-1.png)
ทั้งนี้ ตัวแทนจาก Copernicus ได้ให้ข้อมูลว่า ระบบโครงข่ายดาวเทียม CO2MVS จะสามารถเริ่มปฏิบัติงานได้ในราวปี ค.ศ.2026 เพื่อช่วยในเรื่องของการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่ งได้บัญญัติอยู่ในสนธิสัญญากรุงปารีส ที่ได้รับการลงนามเมื่อปี ค.ศ.2015 ในการประชุมการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจากสภาวะโลกร้อน ที่จัดขึ้นโดยสหประชาชาติ โดยสนธิสัญญาดังกล่าวได้กำหนดให้แต่ละประเทศที่ได้ร่วมลงนามทำการประชุมร่วมเพื่อประเมินผลและปรับปรุงยุทธศาสตร์ด้านการรับมือสภาวะโลกร้อนทุก ๆ 5 ปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากำลังดำเนินนโยบายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างถูกต้อง ซึ่งกำหนดการประชุมครั้งถัดไปคือปีค.ศ.2023 ดังนั้นระบบโครงข่ายดาวเทียม CO2MVS จะเข้ามามีบทบาทและสามารถแสดงผลงานได้ก็คือในปีค.ศ.2028 หรือในอีก 5 ปีถัดไปนั่นเอง
ทาง Copernicus คาดหวังว่าระบบโครงข่ายดาวเทียม CO2MVS จะเข้ามาเป็นผู้เล่นหลักและมีบทบาทสำคัญในการตรวจจับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะทำให้นักวิจัยสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ถึงแหล่งการปล่อยก๊าซจำพวกนี้ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบบโครงข่ายดาวเทียมดังกล่าวจะได้รับการออกแบบให้เก็บข้อมูลได้ครอบคลุมพื้นที่ มีความคมชัด และแม่นยำเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ระบบโครงข่ายดาวเทียมดังกล่าวจะอยู่ในการควบคุมของศูนย์พยากรณ์อากาศระยะปานกลางแห่งยุโรปหรือ ECMWF ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมาธิการยุโรปโดยการสนับสนุนของสหภาพยุโรป
แหล่งที่มา : https://www.space.com/europe-greenhouse-gas-monitoring-satellite-constellation
แปลและเรียบเรียง : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน