เหล่าดาวเทียมหลายพันดวงที่หมดสภาพการใช้งานและลอยเป็นขยะอวกาศอยู่ในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้มีสาเหตุหลักมาจากการการชำรุดของระบบภายในดาวเทียม หากแต่เป็นการที่ดาวเทียมเหล่านั้นไม่มีพลังงานหลงเหลืออยู่ ด้วยเหตุนี้ เหล่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันจึงต้องการที่จะเข้ามาจัดการกับปัญหาดังกล่าวในรูปแบบของการสร้างสถานีเติมเชื้อเพลิงดาวเทียมขึ้นกลางอวกาศ
สถานีเติมเชื้อเพลงดาวเทียมแห่งแรก คาดว่าจะสามารถทำการก่อสร้างแล้วเสร็จและนำส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศได้ภายในปลายปี ค.ศ.2022 ซึ่งหัวเรือใหญ่ของโครงการนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นั่นก็คือ นอร์ธรอป กรัมแมน (Northrop Grumman) และ ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ซึ่งได้ร่วมทุนกันก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพขึ้นมา ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล (Wallstreet Journal) โดยมีเป้าหมายในการเข้าแก้ปัญหาเหล่าดาวเทียมนับพันดวงที่กลายมาเป็นขยะอวกาศ หลังจากที่หมดพลังงานในการปฏิบัติงาน
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/09/Orbit-Fab-1024x576.jpg)
ไม่ใช่เทคโนโลยีที่เป็นเรื่องใหม่
บริษัททั้งสองแห่งนี้ ขึ้นชื่อว่าเป็นกลุ่มบริษัทผู้นำในเทคโนโลยีด้านกิจการอวกาศ และได้ร่วมมือพัฒนาอวกาศยานขึ้นมา ที่ทำให้มนุษย์สามารถควบคุมและและแก้ปัญหาดาวเทียมที่มีข้อขัดข้องหรือใกล้จะหมดอายุการใช้งาน ให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะด้วยการเปลี่ยนดาวเทียมดวงใหม่หรือการใช้ระบบแขนจักรกลในการซ่อมแซมดาวเทียม นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยและพัฒนาระบบการเติมเชื้อเพลิงให้กับดาวเทียม ซึ่งจะทำให้อายุการใช้งานของดาวเทียมได้รับการยืดออกไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทออร์บิท-แฟบ (Orbit-Fab) จากซานฟรานซิสโกก็ได้มีการนำเสนอบริการแรก นั่นคือ การเติมเชื้อเพลงในอวกาศจากอวกาศยานที่บรรทุกเชื้อเพลงของบริษัทให้กับดาวเทียม ซึ่งได้มีการทดสอบการปฏิบัติการในอวกาศไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาและได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ จึงทำให้บริษัทตัดสินใจเดินหน้านำส่งอวกาศยานบรรทุกน้ำมันขึ้นสู่ห้วงอวกาศอีก 2 ลำ
ก้าวบันไดสู่อุตสาหกรรมอวกาศที่มีชีวิตชีวา
นายเจเรมี ชีล (Jeremy Schiel) ซีอีโอของบริษัทออร์บิท-แฟบ กล่าวว่า หากเราต้องการปลุกให้อุตสาหกรรมอวกาศให้กลับมามีชีวิตชีวา เราจะต้องทำการนำพลังงานขึ้นไปบนอวกาศให้ได้ และบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน ก็มีฐานลูกค้าจำนวนมากที่ต้องการเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อจะทำให้พวกเขาเชื่อมั่นว่าการลงทุนในอวกาศจะเกิดความคุ้มค่ามากขึ้นในระยะยาว
แหล่งที่มา : https://www.tagesschau.de/wirtschaft/technologie/raumfahrt-tankstelle-weltall-101.html
แปลและเรียบเรียง : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน