![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/09/Landsat-9-1.png)
Landsat 9 ผลิตและพัฒนาโดยบริษัท Northrop Grumman ด้วยงบประมาณมูลค่า 750 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีกำหนดนำส่งในครั้งแรกเมื่อ 16 ก.ย.64 แต่ได้ถูกเลื่อนออกไปเป็น 23 ก.ย.64 เนื่องจากการขาดแคลนไนโตรเจนเหลวซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 และมีการเลื่อนครั้งล่าสุดเนื่องจากสภาพลมที่รุนแรง ส่งผลให้กำหนดการนำส่งล่าช้าไปเป็นในวันที่ 27 ก.ย.64 เวลา 2:12 p.m. EDT (1812 GMT) จาก Vandenberg Space Force Base ด้วยจรวด Atlas V Rocket ของ United Launch Alliance (ULA) และนำส่งสำเร็จตามแผนที่กำหนดไว้
Landsat 9 เป็นดาวเทียมดวงที่ 9 ในดาวเทียมตระกูล Landsat ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีภารกิจเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration : NASA) และองค์กรสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา(U.S. Geological Survey) ที่ได้ให้บริการภาพถ่ายของโลกเป็นเวลานานเกือบ 50 ปี ด้วยดาวเทียมถ่ายภาพความละเอียดสูงและเซ็นเซอร์อินฟราเรดความไวสูง สามารถให้ภาพถ่ายพื้นโลกทั้งหมด 11 ย่านความถี่ (Spectral Band) มีความละเอียดเชิงพื้นที่ (Spatial Resolution) สูงสุด 15 เมตร ถ่ายภาพจากความสูงเหนือขั้วโลก 705 กิโลเมตร
Landsat 9 สามารถถ่ายภาพโลกได้ครบทั้งหมด (Temporal Coverage) ทุก 16 วัน ซึ่งหากมีการรวมข้อมูลกับภาพถ่ายดาวเทียม Landsat 8 (นำส่งสู่อวกาศเมื่อปี 2556 และยังใช้งานอยู่ในปัจจุบัน) ดาวเทียมทั้งสองจะสามารถถ่ายรูปโลกได้ครบทั้งหมดโดยใช้เวลาเพียง 8 วัน อย่างไรก็ตาม Landsat 9 ถูกออกแบบให้มีอายุการใช้งานเพียง 5 ปี โดยจะนำไปทดแทนดาวเทียม Landsat 7 ที่ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
Landsat 9 มีการติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์จำนวน 2 ชุด ได้แก่ ชุด Operational Land Imager 2 (OLI-2) สำหรับถ่ายภาพในย่านความถี่ Visible Near Infrared และ Shortwave-infrared Light และชุด Thermal Infrared Sensor 2 (TIRS-2) สำหรับวัดระดับของการแผ่รังสีความร้อนอินฟราเรด หรือความร้อน (Brightness Temperature) ของพื้นผิวโลก โดยแต่ละชุดนั้นมีเซ็นเซอร์ที่มีความละเอียดเชิงพื้นที่ 5 m 30 m และ 100 m ขึ้นอยู่กับย่านความถี่ ทำให้ Landsat 9 มีขีดความสามารถในการตรวจจับความหนาแน่นได้สูงกว่า Landsat 8 (14-bit Radiometric Resolution เปรียบเทียบกับ Landsat 8’s 12-bit Radiometric Resolution) รวมถึงอุปกรณ์ใน Landsat 9 เป็นการปรับปรุงขีดความสามารถและแก้ไขปัญหาของ Landsat 8 ด้วย Stray Light
การประยุกต์ข้อมูลใช้ Landsat 9 สามารถสนับสนุนในการพิจารณาเพื่อการแจ้งเตือนสำหรับเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การตรวจจับการตัดไม้ทำลายป่าในเขตร้อนชื้นและการเปลี่ยนแปลงของป่าทั่วโลก (Tropical Deforestation and Global Forest Dynamics) การขยายตัวของพื้นที่เมือง (Urban Expansion) การใช้น้ำ (Water Use) การเสื่อมสภาพของแนวปะการัง (Coral Reef Degradation) การเลื่อนถอยของธารน้ำแข็งและชั้นน้ำแข็ง (Glacier and Ice-shelf Retreat) ภัยธรรมชาติและภัยที่มนุษย์สร้างขึ้น (Natural and Man-made Disasters) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
ที่มา 1. https://www.space.com/nasa-landsat-9-earth-observation-satellite-launch-success
2. https://landsat.gsfc.nasa.gov/landsat-9/landsat-9-overview
ผู้แปล ร.อ.สุทธิพงษ์ โตสงวน