
ปกติแล้วจรวดท่อนแรกที่ยิงนำส่งอวกาศยานจะถูกปล่อยให้ตกลงทะเลหลังจากใช้เชื้อเพลิงหมด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา 2 บริษัทใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีการบินอวกาศของประเทศสหรัฐอเมริกาได้แก่ บริษัท Blue Origin และ บริษัท SpaceX ได้พัฒนาจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Reusable Launch Vehicle, RLV) โดยมีขาตั้งสามารถพับได้ และใช้ซอฟแวร์ในการควบคุมตัวเครื่องยนต์จรวด และช่องเปิด-ปิด เพื่อให้จรวดลดความเร็วลงขณะลงจอดทำให้สามารถกลับมาลงจอดได้อย่างแม่นยำ
จรวดท่อนที่ 1 หรือ ท่อนล่างสุดจะตกลงสู่พื้นโลกหลังหมดเชื้อเพลิง และจรวดจะอยู่ในลักษณะตั้งตรง ไม่เกิดความเสียหายใดๆ โดยนำกลับมาซ่อมบำรุง และใช้ในครั้งต่อไป ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้หลายร้อยเท่า
– บริษัท Blue Origin ได้พัฒนาจรวด New Shepard ที่สามารถลงจอดแบบแนวดิ่งได้แบบจรวด Falcon 9 ของบริษัท SpaceX โดยจรวด New Shepard สามารถกลับมาลงจอดได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนปี 2015 จากความสูง 100 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสสภาวะไร้น้ำหนัก ทำให้ได้เห็นส่วนโค้งของโลกและอื่นๆภายในเวลา 4 นาที และถือเป็นจรวดลำแรกของเอกชนในประวัติศาสตร์ที่ลงจอดแนวดิ่งได้จากความสูงที่นับว่าเข้าเขตอวกาศ

– บริษัท SpaceX เป็นบริษัทที่มีเป้าหมายแตกต่างจาก บริษัท Blue Origin เนื่องจากบริษัท SpaceX ได้มีการปล่อยดาวเทียมและจัดส่งสัมภาระให้แก่สถานีอวกาศ โดยวันที่ 29 มีนาคม 2017 จรวด Falcon 9 ประสบความสำเร็จลงจอดบนโดรนชิปกลางมหาสมุทร

ที่มา : https://www.nstda.or.th/jaxa-thailand/reusable-rockets/
เรียบเรียงโดย : จ.ท.สุณัฏฐชา อักษรวงศ์