![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/09/Alpha.jpg)
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/09/Alpha2.jpg)
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/09/Alpha3.jpg)
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/09/Alpha4.jpg)
จรวดนำส่ง Alpha ของบริษัท Firefly ซึ่งเป็นบริษัทด้านอวกาศอีกบริษัทหนึ่ง เกิดระเบิดกลางท้องฟ้าหลังจากยกตัว (Liftoff) ได้สองนาทีกว่า แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ
บริษัท Firefly มีแผนการยิงนำส่งจรวดนำส่ง Alpha ขึ้นสู่ห้วงอวกาศในวงโคจรรอบโลกระดับต่ำ โดยเป็นเที่ยวบินทดสอบครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ยิงนำส่งขึ้นจากท่าอวกาศยาน SLC-2 Complex ฐานทัพอากาศ Vandenberg ซึ่งตั้งอยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือ ฝั่งมหาสมุทรแบซิฟิกด้านตะวันตกของสหรัฐอเมริกา โดย Pad สำหรับการยิงนำส่งนี้ บริษัท Firefly ได้ทำสัญญาเช่าระยะยาวกับฐานทัพอากาศ Vandenberg
หลังจากได้รับการยิงนำส่ง และทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อเข้าสู่วงโคจร จรวดได้สูญเสียการทรงตัวในทิศทางและระเบิดในไม่กี่วินามทีต่อมาเหนือมหาสมุทรแปซิฟิค ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จรวดนำส่งกำลังเข้าสู่ช่วงการบินเร็วเหนือเสียง (Supersonic) ในการเพิ่มความสูง
จรวดนำส่ง Alpha เป็นจรวดนำส่งหลักของบริษัท Firefly สำหรับการขนส่ง Payload ขึ้นสู่อวกาศที่ความสูงรอบโลกระดับต่ำ (Low Earth Orbit) สำหรับเป็นทางเลือกของธุรกิจการส่งวัตถุขึ้นสู่อวกาศในอนาคต
องค์การบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ Federal Aviation Administration (FAA) ได้สั่งระงับการยิงนำส่งจรวดนำส่ง Alpha จนกว่าทราบสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุครั้งนี้ ซึ่งจากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่ามีการพบสิ่งผิดปกติ (Anomaly) ที่สเตทแรกของจรวดนำส่ง อันส่งผลให้เกิดการระเบิดครั้งนี้ ซึ่งบริษัท Firefly จะรวบรวมข้อมูลและสอบสวนหาสาเหตุต่อไป
จรวดนำส่งรุ่นนี้เป็นอวกาศยานประเภทจรวดนำส่ง (Launcher หรือ Launch Vehicle) มีความสูง 29 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.85 เมตร มีน้ำหนัก 54,000 กิโลกรัม โดยสามารถบรรทุกน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัมไปยังวงโคจรรอบโลกระดับต่ำ ประกอบด้วย 2 ส่วนหรือสเตท (Stage) คือ สเตทแรกเป็นส่วนขับเคลื่อนในช่วงยกตัวเข้าสู่อวกาศ ติดตั้งเครื่องยนต์รุ่น Reaver 1 จำนวน 4 เครื่องยนต์ แต่ละเครื่องยนต์ให้แรงขับ 736.1 กิโลนิวตัน (kN) ค่า Specific Impulse 295.6 วินาที สำหรับสเตท 2 เป็นส่วนที่เดินทางในอวกาศไปยังวงโคจรที่หมาย ติดตั้งเครื่องยนต์เครื่องเดียวรุ่น Lightning 1 ให้แรงขับ 70.1 กิโลนิวตัน ค่า Specific Impulse 322 วินาที โดยทั้งสองเครื่องยนต์ใช้ RP-1 หรือ Kerosene และ Liquid Oxygen เป็นเชื้อเพลิงในการสร้างแรงขับและส่งเชื้อเพลิงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ด้วยอุปกรณ์ Turbo Pump ซึ่งมีลักษณะเครื่องยนต์คล้ายกับเครื่องยนต์ Merlin ของจรวดนำส่ง Falcon 9 บริษัท SpaceX
บริษัท Firefly มีชื่อเต็มคือ Firefly Aerospace Inc สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Austin มลรัฐเท็กซัส เป็นบริษัทด้านอวกาศอีกหนึ่งทำธุรกิจนำส่งวัตถุขึ้นสู่อวกาศคล้ายกับหลายบริษัท ได้แก่บริษัท SpaceX ที่ต้องการสร้างจรวดนำส่งขนส่ง Payload โดยบริษัท Firefly ต้องการขนส่งวัตถุที่มีน้ำหนัก 1,000 – 10,000 กิโลกรัม ไปยังวงโคจรรอบโลกระดับต่ำ ด้วยราคาค่าส่งที่ต่ำประมาณ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดหวังจะเป็นผู้นำการนำส่งวัตถุขึ้นสู่อวกาศแข่งขันกับบริษัทอื่น
สำหรับผู้ก่อตั้งบริษัทและเป็น CEO ในปัจจุบันคือโทมัส อี มาร์คูสิก (Thomas E. Markusic) เมื่อได้พิจารณาประวัติการทำงาน เป็นบุคคลที่อยู่ในวงการด้านอวกาศมานาน โดยจบการศึกษาปริญญาเอก Mechanical and Aerospace Engineering มหาวิทยาลัย Princeton เคยทำงานกับองค์การอวกาศและการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NASA) และกองทัพอากาศสหรัฐ (USAF) อีกทั้งร่วมงานกับบริษัทด้านอวกาศที่สำคัญหลายบริษัทในตำแหน่งที่สำคัญ ได้แก่ รองประธานส่วนระบบการขับเคลื่อนของบริษัท Virgin Galactic ของ Richard Branson วิศวกรระบบอาวุโสในสถานีทดสอบที่มลรัฐเท็กซัสของบริษัท Blue Origin ของ Jeff Bezos วิศวกรระบบขับเคลื่อนของบริษัท SpaceX ของ Elon Musk กล่าวได้ว่ามาร์คูสิกได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และแนวความคิดการสร้างจรวดนำส่งและการเดินทางไปสู่อวกาศจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอวกาศและบุคคลหลักที่สร้างแพลตฟอร์มสำหรับการเดินทางไปยังอวกาศ
การสูญเสียจรวดนำส่ง Alpha จากการยิงนำส่งครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งแรกของการยิงนำส่งของบริษัท ไม่ใช่เรื่องใหม่ซึ่งพี่งเกิดขึ้น หากแต่เคยเกิดเรื่องราวเหล่านี้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเกิดที่คล้ายกับการระเบิดกับจรวด Falcon 1 ของ SpaceX อันเป็นการทดสอบการยิงนำส่งครั้งแรกเช่นเดียวกัน ที่ Kwajalein Atoll บนเกาะ Omelek กลางมหาสมุทรแปซิฟิค เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2549 ซึ่งหลังจากวันนั้นเป็นต้นมา Elon และบริษัท SpaceX ได้พัฒนาปรับปรุงจรวดนำส่ง จนมาถึงปัจจุบันคือ Falcon 9 และ Falcon Heavy โดยเป็นบริษัทผู้เล่นหลักในการนำส่งวัตถุขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งหลังจากนี้เป็นที่น่าติดตามว่า มาร์คูสิก จะนำพาบริษัท Firefly ไปต่อได้อย่างไร
ข้อสังเกต บริษัท Alpha ตั้งชื่อจรวดนำส่งตามตัวอักษรกรีก ได้แก่ Alpha (a), Beta (b), Gramma (g) ขณะที่ SpaceX ตั้งชื่อตามนกอินทรีของอเมริกาคือ Falcon และ Kestrel (เครื่องยนต์นี้ไม่ได้รับการสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2552)
ที่มาของข่าวและภาพ :
Vance, Ashlee, Elon Musk, Harper Collins Publishers, 2015
Berger, Eric, Liftoff : Elon Musk and The Desperate Early Days that Launched SpaceX, Harper Collins Publishers, 2021
ที่มาของวิดิโอ : https://www.youtube.com/watch?v=NisZvIs4SKk