ในตอนที่ 4 ผู้เขียนได้ทิ้งท้ายไว้ถึงปัญหาเรื่องการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัท Blue Origin กับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือ NASA ซึ่งเกิดจากการที่ NASA ได้บอกยกเลิกสัญญาการจัดสร้างระบบอวกาศยานสำหรับการเดินทางไปยังดวงจันทร์ของ Blue Origin และได้มอบสัญญาฉบับใหม่ให้กับบริษัท Space Exploration Technologies Corporation หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า SpaceX ภายใต้การกำกับดูแลของมหาเศรษฐีชื่อดังของโลกอย่างอีลอน มัสก์ (Elon Musk) นั่นเอง ซึ่งนั่นเป็นการสุมไฟความบาดหมางระหว่าง SpaceX และ Blue Origin เพราะทั้งสองบริษัท ต่างกำลังช่วงชิงความเป็นหนึ่งในกิจการอวกาศของโลก แต่ดูเหมือนว่าในเวลานี้ SpaceX จะเริ่มขยับตัวออกห่าง Blue Origin มากขึ้นไปเรื่อย ๆ ดังนั้นครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่เราจะมาทำความรู้จักบริษัท SpaceX ให้มากยิ่งขึ้น
ในห้วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ชื่อของบริษัท SpaceX ได้กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย จากความสำเร็จในการทดสอบจรวดนำส่งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนการนำส่งวัตถุต่าง ๆ ขึ้นไปยังห้วงอวกาศลงได้อย่างมีนัยสำคัญ จนได้รับความไว้วางใจจาก NASA ให้บริษัททำหน้าที่ในการนำส่งนักอวกาศและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station : ISS) ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ.2020 เป็นต้นมา
ตัวอีลอนเองนั้น มีความฝันที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรมด้านอวกาศให้มีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำลง โดยในระยะแรก SpaceX ได้ทำการผลิตจรวดนำส่ง Falcon 1 ซึ่งเป็นจรวดนำส่งแบบ 2 ส่วนหรือ Two-Stage Liquid-Fueled Rocket เป็นผลสำเร็จเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.2008 หลังจากนั้น บริษัทได้ทำการวิจัยและพัฒนาต่อจนกลายมาเป็นจรวด Falcon 9 ในปัจจุบัน โดยขณะนี้ SpaceX กำลังพัฒนาจรวดนำส่งในยุคถัดไปที่มีชื่อว่า Starship สำหรับการนำส่งอุปกรณ์และนักอวกาศไปยังดวงจันทร์และดาวอังคาร
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/09/SpaceX4-1024x694.jpg)
แม้ว่า SpaceX จะก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทเอกชนที่ดำเนินการด้านกิจการอวกาศอันดับหนึ่งของโลกในปัจจุบัน แต่เรากลับแทบไม่ได้ยินโครงการด้านการท่องเที่ยวเชิงอวกาศของบริษัท ทั้ง ๆ ที่บริษัทคู่แข่งสำคัญอย่าง Blue Origin รวมถึง Virgin Galactic ได้เริ่มต้นนับหนึ่งกันเรียบร้อยแล้ว แต่หากจะกล่าวว่า SpaceX ไม่มีแผนการดำเนินธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงอวกาศ ก็อาจจะดูเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะเป้าหมายของ SpaceX ไปไกลกว่า 2 บริษัทข้างต้นมาก โดยเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทได้ลงนามในสัญญาร่วมกับบริษัท Axiom Space ในการดำเนินการนำนักท่องเที่ยวขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในปี ค.ศ.2022 จำนวน 4 เที่ยวบิน ด้วยอวกาศยานแบบ Dragon และจรวดนำส่ง Falcon 9 ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สถานีอวกาศนานาชาติจะเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสูงสุดของ SpaceX กลับไม่ได้เป็นการนำมนุษย์ขึ้นไปสัมผัสสภาวะไร้น้ำหนักนอกชั้นบรรยากาศโลกเพียงเท่านั้น หากแต่เป็นการสร้างอาณานิคมของมนุษยชาติบนดวงจันทร์และดาวอังคาร โดยเริ่มต้นจากโครงการ Artemis ที่จะนำนักอวกาศเดินทางไปยังดวงจันทร์ด้วยอวกาศยาน Starship ซึ่ง SpaceX ให้ข้อมูลว่าอวกาศยานดังกล่าวสามารถนำนักอวกาศเดินทางไปยังดวงจันทร์ได้มากถึง 100 คนต่อหนึ่งเที่ยวบิน โดย SpaceX คาดหวังจะให้เป็นโครงการนำร่องเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการนำมนุษย์จำนวน 1 ล้านคนไปตั้งถิ่นฐานถาวรบนดาวอังคารภายในปี ค.ศ.2050 นั่นเอง
แหล่งที่มา
- https://www.britannica.com/topic/SpaceX
- https://www.analyticssteps.com/blogs/spacex-story
- https://www.nbcnews.com/science/space/spacex-announces-first-mission-space-all-civilian-crew-n1256390
- https://www.spacex.com/updates/axiom-announcement/index.html
- https://www.flickr.com/photos/nasakennedy/42840169205/
เรียบเรียงโดย : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน