หน่วยงานด้านอวกาศของกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยถึงความต้องการสำหรับการจัดหาดาวเทียมเพื่อการสื่อสารกลุ่มใหญ่ ซึ่งอาจมีจำนวนมากถึง 144 ดวง ในการดำเนินการตามโครงการ Transport Layer Tranche 1 ของ Space Development Agency (SDA) ซึ่งเป็นการวางโครงข่ายการสื่อสารผ่านดาวเทียมในวงโคจรรอบโลกระดับต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) สำหรับการสื่อสารที่มีความล่าช้าต่ำ (Low Latency) และมีขีดความสามารถรองรับข้อมูลได้เป็นจำนวนมากที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลก โดยมีแผนเริ่มโครงการในช่วงปลายปี ค.ศ.2024
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/09/sda.jpg)
ข้อมูลจากเอกสาร Request of Proposals (RFP) ในครั้งนี้ มีความต้องการดาวเทียมหลัก จำนวน 125 ดวง ร่วมกับดาวเทียมที่ติดตั้ง Payloads สำหรับการสนับสนุนภารกิจอีก 18 ดวง โดยดาวเทียมตามความต้องการทั้งหมดนี้ จะถูกแบ่งการโคจรออกเป็น 6 ระนาบวงโคจร และสามารถแยกการจัดหาดาวเทียมทั้งหมดนี้จากหลายบริษัทผู้ผลิตที่แตกต่างกันได้ กล่าวคือ ในแต่ละบริษัทผู้ผลิตจะนำเสนอกลุ่มดาวเทียมใน 2 ระนาบวงโคจรพร้อมด้วยอุปกรณ์ภาคพื้น หากแต่ดาวเทียมที่ผลิตจะต้องสามารถทำงานร่วมกันกับดาวเทียมจากผู้ผลิตอื่นได้ นอกจากนี้ดาวเทียมยังได้ถูกกำหนดคุณสมบัติว่าจะต้องสามารถทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบ Optical Inter-satellite Links ได้
ทั้งนี้การจัดหากลุ่มดาวเทียมในปัจจุบัน อยู่ระหว่างขั้นตอนการเปิดให้บริษัทผู้ผลิตดาวเทียมต่าง ๆ ยื่นขอเสนอเพื่อพิจารณา กระบวนการพิจารณาจะเริ่มในช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ.2021 และคาดว่าจะสามารถประกาศผลการจัดหาได้ในช่วงเดือนมกราคม ค.ศ.2022 โดยกำหนดเงื่อนไขสำคัญของบริษัทผู้ผลิตดาวเทียมว่าจะต้องมาจากประเทศที่ผ่านคุณสมบัติ หรือมีความสัมพันธ์ทางการทหารที่ดีกับสหรัฐอเมริกา ตลอดจนจะต้องไม่มีการตั้งมาตรการกีดกันทางการค้าในส่วนของอุปกรณ์สนับสนุนต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีประเทศที่อยู่ในกลุ่มนี้จำนวน 27 ประเทศ ประกอบด้วย 22 ประเทศในสหภาพยุโรป เครือรัฐออสเตรเลีย แคนาดา สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ รัฐอิสราเอล และญี่ปุ่น
ที่มา
แปลและเรียบเรียง : น.ท.รณชัย วุฒิวิทยารักษ์