หลังจากที่บริษัท Virgin Galactic ของเซอร์ ริชาร์ด แบรนด์สัน (Sir Richard Brandson) ประกาศความสำเร็จในการนำอวกาศยานยูนิตี้ (Unity) ขึ้นไปที่ระดับความสูง 282,000 ฟุต หรือประมาณ 85 กิโลเมตรเหนือพื้นโลกได้เพียงแค่ 9 วัน มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกอย่างเจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) ก็ได้นำอวกาศยานนิว เชพเพิร์ด (New Shepard) ของบริษัท Blue Origin ที่ตัวของเขาเองนั้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่พร้อมลูกเรืออีก 5 คน ทะยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศเหนือเส้นคาร์แมน (Karman line) ซึ่งได้รับการนิยามว่าเป็นเส้นแบ่งขอบเขตของโลกกับอวกาศได้สำเร็จ
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/08/อวกาศยานนิว-1024x678.jpg)
สำหรับตัวของเจฟฟ์ เบซอสเองนั้น หลายคนอาจจะคุ้นเคยหรือรู้จักเขาในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และซีอีโอบริษัท E-Commerce อันดับ 1 ของโลกในปัจจุบันอย่าง Amazon ซึ่งแรกเริ่มในปีค.ศ.1994 นั้น เจฟฟ์ตั้งใจให้เป็นเพียงแค่แพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายหนังสือออนไลน์ แต่กลับได้ผลตอบแทนอย่างล้นหลามก่อนที่จะขยายรูปแบบธุรกิจมาเป็น E-Commerce, Fulfillment และ Entertainment อย่างเต็มรูปแบบในปัจจุบัน และด้วยอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้เอง ทำให้ตัวเขาก้าวขึ้นมาเป็นมนุษย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกต่อจากบิล เกตส์ (Bill Gates) ตั้งแต่ปีค.ศ. 2017 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ตัวเขาเองได้ยื่นจดหมายลาออกจากการเป็นซีอีโอของ Amazon เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยหลายฝ่ายได้คาดการณ์ว่ามหาเศรษฐีผู้นี้ ถึงจุดอิ่มตัวกับการบริหารงานบริษัทและต้องการแสวงหาความท้าทายใหม่ ๆ ในการบุกเบิกกิจการด้านอวกาศอย่างเต็มตัว ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่ไม่เกินเลยไปนัก เพราะเมื่อค.ศ.2018 เจฟฟ์ได้เคยให้สัมภาษณ์กับแอกเซล สปริงเกอร์ (Axel Springer) ว่าการดำเนินงานบริษัท Blue Origin ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของตัวเขา และสำคัญมากกว่าบริษัท Amazon เสียอีกด้วยซ้ำ เพราะถ้าเขาไม่ผลักดันหรือเดิมพัน Blue Origin ต่อไป มนุษยชาติก็จะยังคงอยู่แค่ในโลกของตนเอง ซึ่งก็จะดูเป็นสิ่งที่ไม่กล้าหาญเอาเสียเลย
เจฟฟ์ได้ก่อตั้งบริษัท Blue Origin ขึ้นมาในปีค.ศ.2000 ซึ่งก่อนหน้าบริษัท SpaceX และ Virgin Galactic ถึง 2 และ 4 ปีตามลำดับ Blue Origin นั้นมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจนในการบุกเบิกการท่องเที่ยวในอวกาศสำหรับคนธรรมดาโดยมีราคาค่าตั๋วเดินทางที่จับต้องได้ โดยจะใช้อวกาศยานและจรวดนำส่งที่สามารถนำกลับมาใช้อีกครั้งเพื่อลดต้นทุนด้านการผลิต แท้จริงแล้ว เจฟฟ์มีความฝันและความทะเยอทะยานตั้งแต่ในวัยเด็กที่จะสร้างบริษัทนำเที่ยวในอวกาศ และมักใช้เวลาในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนในฟาร์มของคุณปู่คุณย่าทางตอนใต้ของรัฐเทกซัสในการเรียนรู้การทำงานของเครื่องจักรและยังชอบไปห้องสมุดท้องถิ่นเพื่ออ่านหนังสือนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจดวงดาว
เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2020 บริษัท Blue Origin ได้รับสัญญามูลค่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกาหรือ NASA ในการออกแบบ วิจัย และพัฒนาระบบร่อนลงจอดบนดวงจันทร์สำหรับภารกิจ Artemis 3 หรือ Integrated Lander Vehicle (ILV) ซึ่งมีเป้าหมายจะพามนุษย์เดินทางไปยังดวงจันทร์ภายในปีค.ศ.2024 อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา NASA ได้ประกาศยกเลิกสัญญาดังกล่าว และได้มอบสัญญาให้กับบริษัทคู่แข่งที่สำคัญอย่าง SpaceX ของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ให้เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบภารกิจนี้แทน โดยให้เหตุผลว่าเทคโนโลยีระบบลงจอดของ Blue Origin ยังมีช่องโหว่อยู่มาก ทั้งในเรื่องระบบเชื้อเพลิง และระบบสื่อสาร ประกอบกับความกังวลในด้านมาตรฐานการผลิตชิ้นส่วนจากบริษัทย่อยอื่น ๆ ซึ่งมีเหตุให้สามารถเชื่อได้ว่า Blue Origin อาจจะมีโอกาสประสบความล้มเหลวในการผลิตระบบอวกาศยานดังกล่าวค่อนข้างสูง ทำให้เกิดความไม่พอใจกับเจฟฟ์ เบซอสเป็นอย่างมากและได้ดำเนินการฟ้อง NASA อยู่ในขณะนี้ ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มความบาดหมางระหว่างบริษัทชั้นนำด้านอวกาศทั้งสองอีกด้วย
แหล่งที่มา
- https://www.spacex.com/
- https://astronomy.com/news/2021/07/blue-origin-takes-flight
- https://www.businessinsider.com/jeff-bezos-blue-origin-stepping-down-amazon-ceo-space-2021-2
- https://www.nasaspaceflight.com/2021/04/nasa-starship-first-landings-on-ramp/
- https://ideahuntr.com/blue-origins-jeff-bezos-launch-on-new-shepard-live-updates/
เรียบเรียงโดย : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน