ภูเขาน้ำแข็ง A-74 ที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ประมาณ 1.5 เท่าของของกรุงปารีส ซึ่งได้แยกตัวออกมาจากหิ้งน้ำแข็งบรันท์ (Brunt Ice Shelf) บริเวณทวีปแอนตาร์กติกาเมื่อต้นปีที่ผ่านมานั้น ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาภูเขาน้ำแข็งลูกดังกล่าวได้เคลื่อนตัวอยู่ใกล้กับหิ้งน้ำแข็งที่ได้แตกออกมาเมื่อต้นเดือนสิงหาคม โดยลมตะวันออกกำลังแรงพัดพาดผ่านภูเขาน้ำแข็งและบริเวณปลายด้านทิศตะวันตกของหิ้งน้ำแข็งบรันท์ก่อนที่จะเคลื่อนตัวลงไปยังทิศใต้ ทั้งนี้ ภาพถ่ายของดาวเทียมเซนทิเนล-1 (Sentinel-1) ได้แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนตัวของภูเขาน้ำแข็งลูกดังกล่าวซึ่งมีขนาด 1,270 ตารางกิโลเมตรตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 18 ส.ค.64
ตลอดระยะเวลาหลายปีผ่านมา นักธรณีวิทยาด้านธารน้ำแข็งได้เฝ้าติดตามรูปแบบและการขยายตัวของรอยแยก ซึ่งมีความลึก 150 เมตรบนหิ้งน้ำแข็งบรันท์ โดยรอยแยก Chasm 1 ซึ่งเป็นรอยแยกขนาดใหญ่ได้เริ่มแยกตัวจากทิศใต้ไปยังทิศเหนือของหิ้งน้ำแข็งและกำลังเข้าใกล้รอยแยกฮัลโลวีน (Halloween) ที่พาดผ่านอยู่บริเวณตอนเหนือของหิ้งน้ำแข็ง ทั้งนี้ หากภูเขาน้ำแข็ง A-74 เคลื่อนที่เข้าชนกับหิ้งน้ำแข็งอย่างรุนแรง ก็อาจจะทำให้เกิดการแยกตัวของภูเขาน้ำแข็งขนาด 1,700 ตารางกิโลเมตรลูกใหม่ หรือหากแม้ว่าจะเกิดการชนที่ไม่รุนแรง ภูเขาน้ำแข็งก็จะยังคงติดอยู่ในบริเวณธารน้ำแข็ง McDonald
ด้านนายมาร์ค ดริงค์วอเตอร์ (Mark Drinkwater) จากองค์การอวกาศยุโรปหรือ ESA ได้ให้ความเห็นว่า แผ่นน้ำแข็งส่วนปลายซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าภูเขาน้ำแข็ง A-47 นั้น ยังคงมีบางส่วนผนึกติดอยู่กับหิ้งน้ำแข็งบรันท์ แต่หากมีการชนที่รุนแรงเกิดขึ้นกับแผ่นน้ำแข็ง ก็อาจจะเร่งการขยายตัวของของรอยแตกบริเวณดังกล่าวทำให้เกิดการแยกตัวของแผ่นน้ำแข็งได้ ซึ่ง ESA กำลังติดตามการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างใกล้ชิดด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมเซนทิเนล-1 แม้ในช่วงฤดูหนาวอันมืดมิดของทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งกินระยะเวลายาวนานหลายเดือนนั้น การถ่ายภาพและส่งข้อมูลของดาวเทียมเซนทิเนล-1 ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยไม่คำนึงว่าสภาพอากาศจะโหดร้ายหรือมืดมิดสักเพียงใด ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของทวีปที่หนาวเย็นที่สุดนี้ได้ในทุกช่วงเวลา
เนื่องด้วยความเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากการขยายตัวของรอยแยกบนหิ้งน้ำแข็งตั้งแต่ปีค.ศ.2017 ทำให้ทีมสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาจากสหราชอาณาจักรได้ตัดสินใจปิดสถานีวิจัยฮัลเลย์ที่ 6 (Halley VI) บริเวณที่ตั้งเดิมและเคลื่อนย้ายที่ตั้งสถานีวิจัยไปยังบริเวณที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นซึ่งอยู่ห่างจากรอยแยก Chasm 1 ออกไป 20 กิโลเมตร ทั้งนี้สถานีวิจัยฮัลเลย์ที่ 6 นั้นเป็นอาคารที่ประกอบด้วยโมดูล 8 โมดูลที่เชื่อมต่อโดยมีขาตั้งลักษณะคล้ายรองเท้าสกี เพื่อให้โมดูลทั้ง 8 สะดวกในการเคลื่อนที่ไปในที่บริเวณอื่น ๆ
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/08/ภูเขาน้ำแข็ง-1024x1024.gif)
(ที่มา ESA.int)
แหล่งที่มา : https://www.esa.int/ESA_Multimedia/Images/2021/08/A-74_iceberg_near_collision_with_Brunt_Ice_Shelf
แปลและเรียบเรียง : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน