สัปดาห์นี้อวกาศยานสำรวจ 2 ลำ จะโคจรผ่านดาวศุกร์ ดาวเคราะห์ที่ถูกเรียกว่า “คู่แฝดของโลก” หรือ “Earth’s twin” เพื่อที่จะเข้าไปยังระบบสุริยะชั้นในต่อไป
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 เวลา 04:42 UTC อวกาศยาน Solar Orbiter ขององค์การอวกาศยุโรป European Space Agency หรือ ESA ซึ่งมีภารกิจสำรวจลมสุริยะและสำรวจพื้นผิวของดวงอาทิตย์ ได้โคจรผ่านดาวศุกร์ที่ระยะห่าง 7,995 กม. (4,968 ไมล์) และในวันถัดมา (10 สิงหาคม 2564) เวลา 14:48 UTC อวกาศยาน BepiColombo ที่ได้รับการออกแบบและควบคุมการปฏิบัติภารกิจในความร่วมมือกันระหว่าง ESA และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) จะโคจรผ่านดาวศุกร์ในระยะใกล้มากที่ 550 กม. (342 ไมล์) ก่อนที่จะไปสำรวจดาวพุธ (Mercury Exploration) ตามภารกิจต่อไป
เหมือนระยะทางจะดูใกล้และง่ายในการเดินทาง แต่การส่งอวกาศยานไปยังดาวพุธและดาวศุกร์ก็สิ้นเปลืองพลังงานพอๆ กับไปดาวอังคารและที่ไกลออกไป เนื่องจากในขณะที่การเดินทางไปยังระบบสุริยะชั้นนอกต้องการความเร็วที่เพิ่มขึ้น แต่การไปยังระบบสุริยะชั้นในต้องลดความเร็วลง ซึ่งหมายความว่าอวกาศยานที่จะมุ่งหน้าเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จะต้องใช้จรวดขนาดใหญ่หรือหาวิธีอื่นในการลดความเร็วลง นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา มีการใช้เทคนิค slingshot maneuvers หรือการใช้ความเร็วแรงโน้มถ่วงในวงโคจรเพื่อเปลี่ยนความเร็วของอวกาศยานโดยไม่ต้องใช้จรวด เทคนิคนี้ถูกใช้ครั้งแรกในภารกิจ Pioneer 11 โดยอวกาศยานใช้แรงโน้มถ่วงในวงโคจรของดาวพฤหัสบดีเพื่อเพิ่มความเร็วก่อนจะเดินทางไปยังดาวเสาร์
สำหรับการเข้าระบบสุริยะชั้นในนี้มีความซับซ้อนกว่าเล็กน้อย จะต้องโคจรผ่านดาวเคราะห์มากกว่าหนึ่งดวงหลายครั้งเพื่อไปถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการ ในกรณีของ Solar Orbiter จุดประสงค์ของการโคจรผ่านคือต้องการให้อวกาศยานออกจากแนวระนาบสุริยุปราคา เพื่อให้สามารถมองเห็นและสำรวจขั้วของดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรก ในขณะเดียวกัน การโคจรผ่านดาวศุกร์ของ BepiColombo ต้องทำงานร่วมกับระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และต้องโคจรผ่านดาวพุธอีกถึง 6 ครั้ง จึงจะเข้าสู่วงโคจรที่เหมาะสมของดาวพุธ
ตามรายงานของ ESA แจ้งว่าไม่สามารถถ่ายภาพการโคจรผ่านดาวศุกร์ของ Solar Orbiter ได้ เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์ของอวกาศยานไม่ได้หันไปที่ดวงอาทิตย์ จึงไม่มีกำลังไฟเพียงพอที่จะดำเนินการ ในขณะที่ BepiColombo กล้องหลักถูกเก็บไว้ในโมดูลของอวกาศยาน อย่างไรก็ตามยังมีกล้องตรวจสอบสภาพภายนอกของอวกาศยานความละเอียดต่ำ (ขาวดำ) อยู่ 2 ตัว ซึ่งสามารถดาวน์โหลดภาพเป็นชุด ๆ ได้หลังจากที่โคจรผ่านไปแล้วใน 2 วันถัดไป
ระหว่างการโตจรผ่าน อวกาศยานทั้ง 2 จะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมสนามแม่เหล็กและพลาสมาของดาวศุกร์ ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปให้อวกาศยาน Akatsuki ของ JAXA ซึ่งอยู่ในวงโคจรรอบดาวศุกร์แล้ว และข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในการวางแผนสำหรับการปฏิบัติภารกิจของอวกาศยาน EnVision Venus ภายใต้การดำเนินการ ESA ซึ่งมีกำหนดนำส่งในช่วงปี 2030 ต่อไป
ที่มา : https://newatlas.com/space/venus-flyby-solar-orbiter-bepicolombo/
แปลและเรียบเรียง : ricebird572