หุ่นยนต์สำรวจ ExoMars จำลอง ได้เริ่มต้นการทดสอบปฏิบัติภารกิจแรก หลังจากได้ทดสอบการเคลื่อนที่บริเวณพื้นผิวดาวอังคารจำลองที่บริษัท ALTEC เมืองตูริน ประเทศอิตาลี โดยการทดสอบครั้งนี้เป็นการใช้กล้องที่ติดอยู่กับตัวหุ่นยนต์สำรวจในการตรวจสภาพพื้นผิวดาวอังคารจำลองขนาด 64 ตารางเมตร ตลอดจนทดสอบการใช้อุปกรณ์อื่น ๆ ในการวิเคราะห์ตัวอย่างดินจากบริเวณผิวดินและชั้นใต้ดิน
หุ่นยนต์สำรวจจำลองตัวนี้ ได้รับการตั้งชื่อว่า Ground Test Model (GTM) โดยมีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมการปฏิบัติภารกิจของหุ่นยนต์สำรวจ Rosalind Franklin ที่จะลงจอดบริเวณที่ราบ Oxia Planum ของดาวอังคารในช่วงเดือนมิถุนายน 2565
การเลือกเป้าหมาย
การหาตัวอย่างดินที่เหมาะสมในการวิเคราะห์นั้น ประกอบไปด้วยขั้นตอนที่ซับซ้อนมากกว่าเพียงแค่การสังเกตผิวดินและขุดตัวอย่างขึ้นมาตรวจสอบ ดังนั้น หุ่นยนต์สำรวจจึงได้รับการติดตั้งเรดาร์สำรวจพื้นผิวที่ชื่อว่า WISDOM และเครื่องตรวจจับนิวตรอน ADRON เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ทราบได้เบื้องต้นว่ามีอะไรอยู่ใต้ผิวดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักฐานหรือร่องรอยของสิ่งมีชิวิตบนดาวอังคาร อันเป็นจุดประสงค์หลักของโครงการ ExoMars 2022 ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าร่องรอยของสิ่งมีชีวิตอยู่บริเวณใต้ผิวดิน จะมีร่องรอยที่ชัดเจนมากกว่าบริเวณพื้นผิว เนื่องจากจะยังได้รับการปกป้องจากการแผ่รังสีที่รุนแรงบนพื้นผิวดาวอังคาร ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเรดาร์ WISDOM ร่วมกับ ADRON ในการวิเคราะห์พื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ที่จะพบหลักฐานของสิ่งมีชีวิต
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/08/20210802-2-1024x683.jpg)
กรณีทดสอบต่าง ๆ สำหรับภารกิจบนดาวอังคาร
การทดสอบแรกจะเป็นการให้หุ่นยนต์สำรวจได้ทำการเคลื่อนที่และวิเคราะห์พื้นที่ทดสอบ ซึ่งเป็นที่ราบลักษณะพื้นผิวเป็นดินทราย แล้วจึงใช้กล้องในการถ่ายภาพที่มีความละเอียดสูง หลังจากนั้น เมื่อหุ่นยนต์สำรวจได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลและหาจุดที่จะทำการเก็บตัวอย่างแล้ว ก็จะเริ่มทำการเจาะพื้นผิวดาวอังคารเพื่อเก็บตัวอย่างดินใต้พื้นผิว
สำหรับการทดสอบลำดับถัดมา คือการทดสอบคล้ายกับการทดสอบแรก แต่จะสำรวจในบริเวณที่กว้างมากขึ้น โดยคาดหวังว่าจะได้รับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากกว่าเดิม
การเลือกบริเวณพื้นผิวที่จะทำการขุดเจาะสำรวจ
การทดสอบดังกล่าวเป็นการจำลองลำดับขั้นตอนในการปฏิบัติภารกิจของหุ่นยนต์สำรวจบนดาวอังคาร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จะต้องตัดสินใจว่าพื้นที่บริเวณใดเหมาะสมสำหรับการเจาะพื้นผิวดาวอังคารสำหรับการเก็บตัวอย่างดิน โดยหุ่นยนต์สำรวจ Rosalind Franklin นั้น ได้รับการติดตั้งหัวเจาะ ที่สามารถเจาะพื้นผิวดาวอังคารได้ลึกถึง 2 เมตร ซึ่งมากกว่าหุ่นยนต์สำรวจทุกตัวในขณะนี้
หลังจากที่ได้ทำการขุดเจาะไปจนถึงระดับความลึกที่ต้องการแล้ว ตัวอย่างดินจะถูกบดอย่างละเอียดและถูกลำเลียงไปยังส่วนของห้องทดลองที่ได้รับการติดตั้งอยู่ใจกลางหุ่นยนต์สำรวจสำหรับการวิเคราะห์แร่ธาตุและองค์ประกอบทางเคมีต่อไป ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่า ผลการวิเคราะห์ดังกล่าว จะเป็นกุญแจสำคัญในการไขความลับของการเกิดและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร
แปลและเรียบเรียง : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน