![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/07/esa.jpg)
ดาวเทียมสื่อสารของสหภาพยุโรปที่สามารถปรับเปลี่ยนจุดประสงค์ในการทำภารกิจได้แม้ขณะอยู่บนวงโคจร ได้รับการติดตั้งบนจรวดนำส่งและพร้อมสำหรับการปล่อยขึ้นสู่วงโคจรในวันที่ 30 ก.ค.64 โดยดาวเทียมดวงดังกล่าวถูกพัฒนาภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency : ESA) บริษัทผู้ให้บริการด้านการควบคุมดาวเทียม ยูเทลแซท (Eutelsat) และบริษัทผู้ผลิตหลักอย่าง แอร์บัส (Airbus) ทั้งนี้ ดาวเทียมยูเทลแซท ควอนตัม (Eutelsat Quantum) นับเป็นดาวเทียมเชิงพาณิชย์ดวงแรกของโลกที่ได้รับการติดตั้งซอฟท์แวร์ที่มีระบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่นสูง
ด้วยความสามารถในการรองรับเปลี่ยนแปลงโปรแกรมการสั่งงานของดาวเทียม ทำให้ดาวเทียมดวงนี้สามารถรองรับความต้องการในการเปลี่ยนแปลงโปรแกรมต่าง ๆ ตลอดอายุการใช้งาน 15 ปี อีกทั้ง ทิศทางการรับส่งสัญญาณของดาวเทียมสามารถปรับเปลี่ยนได้เกือบทันทีที่ต้องทำการรับหรือส่งสัญญาณกับวัตถุที่เคลื่อนที่ได้เช่น เรือ หรือเครื่องบิน เป็นต้น
อัตราการรับส่งข้อมูลของดาวเทียมยังสามารถปรับได้อย่างง่ายดาย เพื่อให้สามารถส่งข้อมูลได้มากขึ้นเมื่อความต้องการเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ดาวเทียมดวงดังกล่าวยังสามารถตรวจจับและกำหนดลักษณะการปล่อยสัญญาณที่มีความผิดปกติ ทำให้สามารถตอบสนองต่อการรบกวนคลื่นส่งสัญญาณที่เกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดาวเทียม Eutelsat Quantum เป็นหนึ่งในผลผลิตของโครงการความร่วมมือระหว่าง ESA และบริษัทอุตสาหกรรมด้านอวกาศชั้นนำในทวีปยุโรป อีกทั้งยังเป็นโครงการที่นับได้ว่าเป็นเรือธงของสหราชอาณาจักร เนื่องจากกระบวนการการพัฒนาไปจนถึงขั้นตอนการผลิตนั้น เกิดขึ้นโดยบริษัทสัญชาติอังกฤษ โดยบริษัท Airbus ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับสัญญาหลักนั้น จะทำหน้าที่รับผิดชอบในส่วนของการผลิต Payload ที่จะนำไปติดตั้งบนแพลตฟอร์มของดาวเทียมที่ได้รับการพัฒนาและผลิตขึ้นมาใหม่โดยบริษัท Surry Satellite Technology Ltd
ดาวเทียมดวงดังกล่าวจะได้รับการนำส่งด้วยจรวดนำส่งเอเรียน 5 (Ariane 5) โดยบริษัท Arianespace จากฐานปล่อยจรวดของสหภาพยุโรป ที่ตั้งอยู่ ณ เฟรนช์เกียนา
แปลและเรียบเรียง : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน