หลักจากเมื่อตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงความใฝ่ฝันของมนุษย์ที่มีต่อดวงดาวและจักรวาล ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับการกำเนิดอารยธรรมของมนุษยชาติเรื่อยมา จนกระทั่งจรวด V2 รหัส MW 18014 ซึ่งเป็นอาวุธปล่อยนำวิถีพิสัยไกล ของเยอรมนีในยุคของอาณาจักรไรช์ที่ 3 หรือยุคนาซี ได้รับการปล่อยขึ้นจากฐานปล่อยจรวด ณ ศูนย์วิจัยทางทหารกองทัพบกเยอรมัน เมืองเพเนอมึนเดอ (Peenemünde) เมื่อ 20 มิถุนายน ค.ศ.1944 นับได้ว่าเป็นอวกาศยานลำแรกของโลกที่ผ่านข้ามเส้นคาร์มัน (Kármán line) ซึ่งได้รับการนิยามให้เป็นเส้นแบ่งระหว่างชั้นบรรยากาศของโลก
หลังจากนั้น ประเทศมหาอำนาจของโลกต่างได้นำส่งอวกาศยานขึ้นไปยังห้วงอวกาศ นับตั้งแต่การนำส่งดาวเทียมสปุตนิก 1 หรือนักอวกาศคนแรกของโลกอย่างยูริ กาการิน ของสหภาพโซเวียต หรือการนำมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของสหรัฐอเมริกา ตลอดจนการสร้างวัตถุที่มีราคาและใช้งบประมาณสูงที่สุดในโลกอย่างสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของประเทศต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักที่การดำเนินกิจการอวกาศ ไม่ก้าวหน้าไปอย่างที่ควรจะเป็นคือเรื่องของการใช้งบประมาณอย่างมหาศาลในด้านการลงทุน โดยมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมนั่นก็คือ การที่มนุษย์ไม่ได้เดินทางไปเหยียบดวงจันทร์มานานกว่าครึ่งศตวรรษ ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน (The Guardian) กล่าวว่ารัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาในยุคของลินดอน บี จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) ได้ทุ่มงบประมาณให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA ในการดำเนินโครงการอพอลโลมากถึง 3-4.5% ของงบประมาณภาครัฐต่อปีท่ามกลางวิกฤติการณ์เงินเฟ้อครั้งใหญ่ (The Great Inflation) ต่อเนื่องมายังการยกเลิกการผูกค่าเงินดอลลาร์ของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ในปี ค.ศ.1971 ทำให้ประชาชนสหรัฐเริ่มตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของการบริหารงบประมาณของรัฐบาลในภาษีที่พวกเขาได้เสียไปให้กับรัฐบาลในแต่ละปี ประกอบกับชัยชนะของสหรัฐอเมริกาต่อสหภาพโซเวียตที่สามารถบรรลุจุดประสงค์ในการนำมนุษย์เดินทางไปดวงจันทร์แล้ว ทำให้รัฐบาลกลางทยอยปรับลดงบประมาณของ NASA เรื่อยมาจนกระทั่งเหลือเพียงแค่ 0.47% ของงบประมาณภาครัฐต่อปี หรือลดลงถึง 8 เท่าจากจุดสูงสุด ทำให้กิจการด้านอวกาศไม่เกิดการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น
เมื่อนำข้อมูลเชิงสถิติและประวัติศาสตร์มาพิจารณาดูแล้ว ปัจจัยหลัก ๆ ๒ ปัจจัย ที่ทำให้กิจการทางอวกาศไม่เกิดการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น ได้แก่
1. ผลตอบแทนหรือความคุ้มค่าทางการลงทุน ซึ่งโครงการด้านอวกาศแทบทั้งหมดใช้เงินจากภาครัฐในการลงทุน ประชาชนผู้ที่เป็นคนเสียภาษี ย่อมมีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ และแน่นอนว่า ไม่ใช่คำตอบที่ง่ายสำหรับรัฐบาลแน่นอน
2. การขาดแรงจูงใจ โดยในยุคบุกเบิกอวกาศ การแข่งขันของ 2 ประเทศมหาอำนาจนั่นคือ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม สหภาพโซเวียตซึ่งใช้งบประมาณด้านอวกาศไปอย่างมหาศาล สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจของตนจนกลายเป็นระเบิดเวลาที่ซุกอยู่ใต้พรม เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำมาซึ่งความล่มสลายทางเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต ทำให้กิจการด้านอวกาศต้องหยุดชะงักลง สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญจึงขาดแรงจูงใจในผลักดันกิจการด้านอวกาศต่อไป

จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าภาครัฐไม่สามารถที่จะเป็นผู้ผลักดันกิจการด้านอวกาศได้อย่างยั่งยืน ทำให้ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา กิจการด้านอวกาศจะถูกลดความสำคัญจากภาครัฐลง แต่นั่นกลับสวนทางกับภาคเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรมอย่างสิ้นเชิง ในตอนถัดไปของซีรีส์ชุดนี้ ผู้เขียนจะวิเคราะห์ถึงการเข้ามาของภาคเอกชน (Private Sector) ที่กำลังกลายมาเป็นผู้เล่นหลักและผู้ที่จะผลักดันกิจการอวกาศของมนุษยชาติในอนาคต
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
แหล่งที่มา
- https://www.spacelegalissues.com/peenemunde-and-the-german-v-2-rockets/
- https://www.nationalgeographic.com/science/article/where-is-the-edge-of-space-and-what-is-the-karman-line
- https://www.theguardian.com/news/datablog/2010/feb/01/nasa-budgets-us-spending-space-travel
- https://www.history.com/this-day-in-history/fdr-takes-united-states-off-gold-standard#:~:text=The%20government%20held%20the%20%2435,completely%20abandoning%20the%20gold%20standard.
- https://www.flickr.com/photos/127520452@N04/41189209095
- https://www.researchgate.net/publication/268078377_Space_Shuttle_Case_Studies_Challenger_and_Columbia
เรียบเรียงโดย : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน