ยินดีต้อนรับสู่ซีรีส์ชุด Space Tourism อุตสาหกรรมที่จะพลิกโฉมโลกของเราไปตลอดกาล ที่จะนำผู้อ่านทุกท่านท่องกาลเวลาผ่านยุคสมัยต่าง ๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อวิเคราะห์ความสนใจของมนุษย์ที่มีต่อท้องฟ้าและดวงดาว ซึ่งกำลังจะต่อยอดมาเป็นอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวในอวกาศในปัจจุบัน ตลอดจนตีแผ่มุมมองของผู้เขียนที่มีต่อแนวโน้มด้านการท่องเที่ยวในอวกาศในอนาคต สำหรับตอนแรกของซีรีส์ชุดนี้จะเป็นเรื่องของมนุษย์ในอารยธรรมโบราณกับดวงดาว โดยจะย้อนไปตั้งแต่ยุคอารยธรรมโบราณซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์อยู่มากมายที่เป็นเครื่องยืนยันถึงความสนใจของมนุษย์ในยุคโบราณต่อความเร้นลับของท้องฟ้าและดวงดาว ตลอดจนความปรารถนาของมนุษย์ที่จะเดินทางไปยังดินแดนอันไกลโพ้น
การเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติครั้งสำคัญต้องย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 7,000 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อมนุษย์ในยุคหินใหม่ (Neolithic Era) ซึ่งเดิมนั้นเป็นชนเผ่าเร่ร่อน ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ใช้ชีวิตไปกับการล่าสัตว์ และหาพืชผัก ผลไม้ในป่าเป็นอาหาร เริ่มต้นเรียนรู้ที่จะทำปศุสัตว์ ปลูกพืชสวน ไร่นา ตลอดจนเริ่มก่อสร้างที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง อีกทั้งยังเริ่มมีการสื่อสารภายในกลุ่มหรือเผ่าของตน นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นหนังสือหน้าใหม่ของมนุษยชาติจากยุคหินสู่อารยธรรมยุคโบราณ ที่นักโบราณคดีเรียกช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า การปฏิวัติยุคหินใหม่ หรือ การปฏิวัติเกษตรกรรมยุคที่ 1 (Neolethic Revolution)
ภาพที่ 1 : ความเป็นอยู่ของมนุษย์ในช่วงการปฏิวัติยุคหินใหม่ (ที่มา libcom.org)
ตามหลักฐานทางโบราณคดีนั้น อารยธรรมยุคโบราณแห่งแรกได้เริ่มต้นขึ้นบริเวณแถบลุ่มแม่น้ำไทกริส ยูเฟรติส ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งของประเทศอิรัก โดยมีชื่อว่า แหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดวัฒนธรรม ความเชื่อ ความรู้ของมนุษยชาติ แน่นอนว่าทั้งสามอย่างที่กล่าวมานั้นล้วนแล้วแต่มีความยึดโยงซึ่งกันและกัน ซึ่งหนึ่งในจุดยึดโยงที่สำคัญเหล่านั้นก็คือ ท้องฟ้าและดวงดาว ซึ่งหลักฐานทางโบราณคดีหลายชิ้นที่ถูกขุดค้นพบ ก็เป็นสิ่งตอกย้ำความความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับความรู้และความเชื่อเกี่ยวกับดวงดาวได้เป็นอย่างดี ดังเช่น ตัวอย่างในภาพที่ 2 ซึ่งเป็นจารึกแผ่นหินทรายที่แกะสลักภาพการเฉลิมฉลองชันชนะของจักรพรรดินารัมซูเอน (Naramsu`en) แห่งจักรวรรดิอัคคาเดียนที่ 3 ที่มีชีวิตอยู่ในช่วง 2,389 – 2,353 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งมีจุดที่น่าสนใจคือความหมายของดวงอาทิตย์ 2 ดวงที่ปรากฏอยู่อยู่เหนือหัวของจักรพรรดิองค์ดังกล่าว
นอกจากนี้ วรรณกรรมเชิงนวนิยายที่เก่าแก่ที่สุดของโลกอย่าง มหากาพย์กิลกาเมซ (Epic of Gilgamesh) ซึ่งเป็นเรื่องของการแสวงหาความอมตะของกิลกาเมซ กษัตริย์หนุ่มผู้มีพลังเหนือมนุษย์แห่งเมืองอูรุค โดยนวนิยายเรื่องดังกล่าวก็ได้มีการพูดถึงการพุ่งชนของอุกกาบาตที่ตกลงมายังโลก รวมถึงการพูดถึงเทพเจ้าที่อยู่บนฟากฟ้าอย่างเทพอานุ ซึ่งบุตรสาวของตนนางอิชตาร์นั้น ตกหลุมรักกิลกาเมซและต้องเดินทางไปกลับโลกและท้องฟ้าอยู่เสมอ
จากหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งสองอย่างที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมา ทำให้สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ว่า เริ่มให้ความสนใจและมีความเชื่อที่เกี่ยวกับดวงดาวมาตั้งแต่ยุคอารยธรรมโบราณ รวมถึงได้มีการกล่าวถึงการเดินทางจากท้องฟ้ามายังโลกมนุษย์แล้ว ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจของมนุษย์ในการเดินทางไปยังดินแดนนอกโลกได้เป็นอย่างดี
โปรดติดตามตอนต่อไป…
แหล่งที่มา :
– https://libcom.org/blog/climate-class-neolithic-revolution-09062014
– หนังสือกิลกาเมซผจญภัย ฉบับแปลภาษาเยอรมันโดย Stefan M. Maul ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.2005
เรียบเรียงโดย : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน