องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือ NASA เริ่มขยับก้าวที่สำคัญสำหรับโครงการอาร์เทมีสในการเดินทางไปยังดวงจันทร์ โดยโครงการแรกคือการจัดหาบริษัทเอกชนเพื่อร่วมดำเนินการในโครงการอาร์เทมีส ในส่วนของการวิจัย พัฒนา ตลอดจนการออกแบบระบบการร่อนลงจอด (Human Landing System : HLS) ซึ่งมีมูลค่า 45 ล้านดอลลาร์ โดยระบบการร่อนลงจอดนี้จะถูกใช้ในการปล่อยยานลูกออกจากยานแม่ที่โคจรอยู่รอบดวงจันทร์ เพื่อเดินทางไปและกลับจากพื้นผิวของดวงจันทร์อย่างปลอดภัย ซึ่งนับว่าเป็นการนำภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการด้านอวกาศมากยิ่งขึ้น
ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว จะทำให้นักบินอวกาศสามารถที่จะสำรวจพื้นที่ใหม่ ๆ ของดวงจันทร์ ซึ่งอาจมีส่วนในการหาคำตอบในความพิศวงของระบบสุริยะจักรวาล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติในอนาคต โดยเป้าหมายของ NASA คือการสร้างระบบลงจอดของอวกาศยานลงบนพื้นผิวของดวงจันทร์ด้วยความปลอดภัยสูงสุด และยังต้องมีความคุ้มค่าทางด้านราคามากที่สุด เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถเข้าถึงระบบดังกล่าวได้ด้วย

ลิซ่า วัตสัน มอร์แกน (Lisa Watson-Morgan) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโครงการระบบการลงจอดด้วยอวกาศยานที่บังคับด้วยมนุษย์ของ NASA กล่าวว่า ระบบการร่อนลงจอดนี้จะเป็นความก้าวที่สำคัญของความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมอวกาศระหว่างรัฐบาลและบริษัทอุตสาหกรรมของประเทศสหรัฐอเมริกา และจะเพิ่มโอกาสให้บรรดาวิศวกรจากภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ตลอดจนดำเนินภารกิจบนดวงจันทร์อีกด้วย
ความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีระบบลงจอดนั้น เป็นไปอย่างยั่งยืน และเป็นการเปิดโอกาสให้กับบริษัทสตาร์ทอัพหน้าใหม่ เข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมอวกาศที่จะเกิดขึ้นบนดวงจันทร์ รวมถึงทำให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีของ NASA ทั้งนี้ระบบการลงจอดของอวกาศยานที่บังคับโดยมนุษย์นั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้โครงการอาร์เทมีสประสบความสำเร็จ ซึ่งเหล่าผู้บริหารของ NASA มองว่าจะเป็นการพิสูจน์อีกหนึ่งครั้ง ว่า NASA ยังคงเป็นผู้นำด้านการสำรวจอวกาศของโลก และคาดหวังว่าการไปดวงจันทร์ครั้งนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความตื่นรู้ในวงการอวกาศของโลกอีกด้วย
โครงการอาร์เทมีสจะประกอบไปด้วยชุดอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์รวมถึงเทคโนโลยีชั้นนำที่จะรองรับการสำรวจดวงจันทร์ รวมถึงการนำมนุษย์ขึ้นไปอยู่บนดวงจันทร์ในระยะยาว โดยมุ่งหวังว่าโครงการนี้จะเป็นก้าวย่างที่สำคัญสำหรับมนุษยชาติในการเดินทางไปกลับดาวอังคารในอนาคต
แหล่งที่มา : https://www.nasa.gov/feature/nasa-offers-45m-to-solve-risks-for-astronaut-moon-landing-services
ผู้แปล : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน