นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้พัฒนานวัตกรรมทางเลือก ด้วยการใช้ข้อมูลดาวเทียมขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NASA ในการตรวจจับหาการเคลื่อนไหวของไมโครพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ในมหาสมุทร
ไมโครพลาสติกเกิดขึ้นจากการที่ขยะพลาสติกถูกแสงแดดและคลื่นทะเลย่อยสลาย ทำให้เกิดการแตกตัวออกเป็นพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ตลอดจนระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเลอย่างมาก เพราะไมโครพลาสติกนั้นสามารถที่จะถูกน้ำทะเลซัดและลอยไปได้ไกลหลายร้อยหรือพันกิโลเมตรจากจุดกำเนิดของมัน ซึ่งทำให้ยากแก่การตรวจจับและทำลาย ซึ่งปัจจุบันนี้ แหล่งข้อมูลสำหรับการตรวจติดตามไมโครพลาสติกนั้น คือเหล่าเรือประมงที่จะคอยแจ้งข้อมูลการพบขยะดังกล่าว โดยส่วนใหญ่เกิดจากการต้องใช้อวนจับแพลงตอน แต่กลับได้ไมโครพลาสติกขึ้นมาอย่างไม่ได้ตั้งใจ
เทคนิคสมัยใหม่ในการตรวจจับไมโครพลาสติกที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้อ้างอิงข้อมูลจากระบบดาวเทียมระบุทิศทางพายุของ NASA ที่มีชื่อว่า Cyclone Global Navigation Satellite System หรือ CYGNSS ซึ่งเป็นระบบโครงข่ายดาวเทียมที่ประกอบด้วยดาวเทียมขนาดเล็กจำนวน 8 ดวง ที่ทำหน้าที่ในการวัดความเร็วลมเหนือมหาสมุทรและให้ข้อมูลเกี่ยวกับความแรงของพายุเฮอร์ริเคนที่อยู่บริเวณต่าง ๆ ในมหาสมุทร ระบบโครงข่ายดาวเทียม CYGNSS ยังใช้เรดาร์ในการวัดระดับความราบเรียบของมหาสมุทร ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้จากหลายปัจจัย เช่น ลม และขยะที่ลอยอยู่บนผิวมหาสมุทร
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/06/20210630-1-1024x576.png)
(Youtube Channel : University of Michigan Engineering)
อย่างไรก็ตาม ในการตรวจจับหาไมโครพลาสติกนั้น นักวิจัยได้ใช้เทคนิคแบบย้อนกลับ กล่าวคือ เริ่มจากการค้นหาบริเวณที่มีทะเลที่สงบและราบเรียบกว่าปกติเมื่อเปรียบเทียบกับความเร็วลมบริเวณดังกล่าว ซึ่งอาจบ่งบอกได้ถึงการมีอยู่ของไมโครพลาสติกในพื้นที่บริเวณนั้น หลังจากนั้น จึงทำการเปรียบเทียบบริเวณที่สำรวจได้กับแบบจำลองการคาดการณ์บริเวณการก่อตัวของไมโครพลาสติก ซึ่งทำให้พบว่าไมโครพลาสติกมีแนวโน้มจะก่อตัวบริเวณที่ทะเลมีความราบเรียบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าข้อมูลที่ได้รับจาก CYGNSS สามารถใช้ในการติดตามไมโครพลาสติกในมหาสมุทรได้
ผลการวิจัยดังกล่าวถูกตีพิมพ์ออนไลน์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ลงบนเว็บไซต์ของสถาบันวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ (The Institute of Electrical and Electronics Engineers : IEEE) ในด้านธรณีวิทยาและการสำรวจระยะไกล ซึ่งเจ้าของงานวิจัยดังกล่าวคือ นายคริส รูฟ (Chris Ruf) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมิชิแกนและเป็นผู้ตรวจสอบโครงการ CYGNSS และ เมดาลีน ซี อีแวนส์ (Madeline C. Evans)
แหล่งข้อมูล : https://www.nasa.gov/feature/esnt2021/scientists-use-nasa-satellite-data-to-track-ocean-microplastics-from-space
แปลและเรียบเรียง : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน