![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/06/article20210617-1.jpg)
เชื้ออสุจิของหนูแช่แข็งแบบแห้งที่ใช้เวลานานหลายเดือนที่สถานีอวกาศนานาชาติ กลับคืนสู่โลกและประสบความสำเร็จในการปฏิสนธิเพื่อให้กำเนิด ลูกหนูอวกาศ
นักวิจัยชาวญี่ปุ่นที่อยู่เบื้องหลังผลงานวิจัยชิ้นใหม่นี้ต้องการทราบว่าการแผ่รังสีในอวกาศส่งผลอย่างไรต่อภาวะเจริญพันธุ์ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยทั่วไปรังสีสามารถทำลาย DNA ภายในเซลล์ของสัตว์ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ (เหตุผลหนึ่งที่แพทย์ผิวหนังแนะนำให้ใช้ครีมกันแดด) และสภาพแวดล้อมบนโลกที่มีการแผ่รังสีอย่างหนักสามารถทำให้เกิดข้อบกพร่องในลูกหลานของสัตว์ได้
การแผ่รังสีในอวกาศเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่ได้ส่งนักบินอวกาศจำนวนมากไปปฏิบัติภารกิจอันยาวนานในวงโคจรรอบโลกระดับต่ำ หรือแม้กระทั่งการเดินทางไปในอวกาศที่มีระยะทางที่ไกลออกไปก็เช่นเดียวกัน NASA และหน่วยงานด้านอวกาศอื่น ๆ กำลังพัฒนาระบบที่สามารถรองรับมนุษย์ในการเดินทางนานหลายเดือนไปยังจุดหมายปลายทางอื่น ๆ ของระบบสุริยะ
การศึกษาก่อนหน้านี้ไม่สามารถจำลองสภาวะการแผ่รังสีในอวกาศไว้บนโลกได้ ดังนั้นทีมนักวิจัยจึงส่งการทดลองไปยังอวกาศ โดยนักวิจัยสุ่มตัวอย่างเชื้ออสุจิของหนูจากหนู 12 ตัวและปิดผนึกไว้ในแคปซูลขนาดเล็กน้ำหนักเบา จากนั้นตัวอย่างได้ถูกส่งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ และเก็บไว้ตามระยะเวลาที่ต่างกัน บางส่วนกลับมายังโลกหลังจากอยู่ในอวกาศเป็นเวลา 9 เดือน บางส่วนกลับมายังโลกหลังจากผ่านไป 2 ปี 9 เดือน และตัวอย่างเชื้ออสุจิของหนูชุดสุดท้ายกลับมายังโลกหลังจากอยู่ในอวกาศได้ 5 ปี 10 เดือน
เมื่อกลับลงมาสู่โลก ทีมนักวิจัยได้ตรวจสอบปริมาณรังสีที่ตัวอย่างเชื้ออสุจิของหนูดูดกลืนไว้วิธี “RNA Sequencing” พวกเขาพบว่าการเดินทางครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลให้ DNA เกิดความเสียหายต่อนิวเคลียสของเชื้ออสุจิ ทีมนักวิจัยทำให้เชื้ออสุจิที่แช่แข็งไว้ละลาย จากนั้นฉีดเข้าไปในเซลล์รังไข่ของหนูตัวเมีย หลักจากนั้นตัวแม่พันธุ์ก็ตั้งท้องและให้กำเนิดลูกหนูออกมาโดยพบว่าลูกหนูที่คลอดออกมามีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีข้อบกพร่องใดๆ
ที่มา https://www.space.com/space-pups-born-frozen-mouse-sperm
แปลและเรียบเรียงโดย ร.ต.วรวุฒิ เฟื่องคำ