![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/06/20210617-3.jpg)
บุคคลนิรนามได้รับโอกาสในการร่วมโดยสารไปกับเที่ยวบินขึ้นสู่อวกาศร่วมกับมหาเศรษฐีอันดับ ๑ ของโลก Jeff Bezol และน้องชายของเขา Mark ด้วยราคาการประมูลที่นั่งมูลค่าสูงถึง ๒๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ Jeff Bezos เจ้าของบริษัท Blue Origin ได้สรุปผลการประมูลที่นั่งแรกบนอวกาศยาน New Shepard ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๔ โดยการประมูลเริ่มต้นที่ราคา ๔.๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจบลงที่ราคา ๒๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการใช้เวลาในการประมูลไม่ถึงเจ็ดนาที
จำนวนเงินประมูลที่ชนะจะนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิ Club for the +Future ของบริษัท Blue Origin ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่แสวงหาอาชีพที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Math) หรือเรียกโดยย่อว่า “STEM” นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อช่วยคิดค้นเกี่ยวกับอนาคตของการดำรงชีวิตในอวกาศ
ชื่อผู้ชนะการประมูลจะได้รับเปิดเผยชื่อในภายหลัง และจะโดยสารไปกับอวกาศยาน New Shepard
ที่มีกำหนดขึ้นสู่อวกาศในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ซึ่งตรงกับวันครบรอบ ๕๒ ปี การลงจอดบนดวงจันทร์ของภารกิจ Apollo 11 อีกทั้งผู้ชนะการประมูลนี้จะมีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์ในการเป็นนักท่องเที่ยวอวกาศคนแรกที่บินขึ้นไปเหนือความสูง ๑๐๐ กิโลเมตรของเส้น Karman Line ซึ่งนานาชาติยอมรับว่าเป็นเส้นแบ่งระหว่างชั้นบรรยากาศโลกกับอวกาศ
เที่ยวบินนี้จะใช้ระยะเวลารวมทั้งหมด ๑๐ – ๑๒ นาที จากฐานปล่อยจรวดของบริษัท Blue Origin ในมลรัฐเท็กซัสฝั่งตะวันตก สหรัฐอเมริกา โดยหลังจากขึ้นจากพื้นโลก ๒ นาที ๔๕ วินาที แคปซูลของอวกาศยาน New Shepard จะแยกตัวออกจากโมดูลหลักของจรวดขับเคลื่อนที่ความสูงประมาณ ๖๗ กิโลเมตร และยังคงทำการบินขึ้นไปจนความสูงเหนือกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร แล้วแคปซูลจะตกลงมายังโลกโดยมีการกางร่มชูชีพเพื่อชะลอความเร็วขณะกลับมายังโลก ในที่สุดแคปซูลจะกลับมาลงจอดบริเวณเดียวกับที่มีการนำส่ง
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/06/20210617-5.png)
ในขณะที่ราคาสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวไปยัง Suborbit (Suborbit หมายถึง การเดินทางขึ้นไป
ในอวกาศที่ไม่ได้โคจรรอบโลกครบรอบ) นี้จะดูสูงมากสำหรับหลายคน แต่เที่ยวบินไปยัง Suborbit เป็นเที่ยวบินที่สามารถต่อรองราคาได้เมื่อเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายในการไปเยี่ยมชมสถานีอวกาศนานาชาติ
โดยบริษัท Vigin Glactic ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งคาดว่าจะเรียกเก็บเงิน ๒๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวไปยัง Suborbit ส่วนบริษัท Blue Origin คาดว่าราคาในอนาคตอาจจะลดลงเหลือ ๕๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ
NASA เคยจ่ายเงิน ๙๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้ประเทศรัสเซียสำหรับที่นั่งในอวกาศยาน Soyuz
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๓ เพื่อส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติหลังจากที่กระสวยอวกาศไม่สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๔ โดยจ่ายค่าเดินทางแบบไปกลับเป็นรายบุคคลในแต่ละครั้ง ทั้งนี้สถานการณ์นั้นเปลี่ยนแปลงไปหลังจากมีเที่ยวบินแบบมีลูกเรือเชิงพาณิชย์ในปี พ.ศ.๒๕๖๓ เข้ามา แม้ว่า NASA จะคงต้องซื้อที่นั่งเป็นครั้งคราวจากรัสเซีย เช่น ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเนื่องด้วยต้องการเจ้าหน้าที่ขึ้นไปในอวกาศ อย่างไรก็ตามจากตัวอย่างการท่องเที่ยวในอวกาศด้านบน ที่นั่งสำหรับการเดินทางไปยังสถานีอวกาศดูเหมือนจะเป็นที่ต้องการสูงกว่าที่นั่งในการเดินทางไปยัง Suborbit
แหล่งที่มา :
– https://www.space.com/blue-origin-new-shepard-seat-auction-webcast
– https://www.space.com/blue-origin-new-shepard-seat-auction
แปลและเรียบเรียงโดย จ.ท.สุณัฏฐชา อักษรวงศ์