หลังจากที่กองทัพอากาศได้ดำเนินการจัดหาระบบดาวเทียม Nano Satellite ดวงแรกที่มีชื่อว่า นภา-๑ (NAPA-1) ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิบัติการทางอวกาศ เพื่อใช้ในภารกิจการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจทางอวกาศ โดยรูปแบบในการปฏิบัติภารกิจของดาวเทียม นภา-๑ เป็นการลาดตระเวนถ่ายภาพทางอวกาศเมื่อดาวเทียมโคจรผ่านพื้นที่ที่ต้องการ ซึ่งข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศที่ได้นั้นมีประโยชน์ในการนำไปใช้งานอย่างมากในหลายๆ ด้าน อาทิ เช่น ด้านการทหาร การใช้งานด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ การทำเกษตรกรรมแบบแม่นยำสูง (Precision agriculture) การจัดการลุ่มน้ำ การวางผังเมือง การทำแผนที่พื้นมหาสมุทร (Bathymetry) การทำแผนที่ธรณีสัณฐาน หรือการเฝ้าระวังภัยพิบัติ เป็นต้น
ตัวอย่างการใช้ประโยชน์ในการดำเนินการการปฏิบัติการทางอวกาศ ของดาวเทียม นภา-๑ (NAPA-1) ในภารกิจการปฏิบัติการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจทางอวกาศ ที่สามารถนำมาใช้งานสอดรับกับงานด้านการป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ หรือที่เคยได้ยินกันในชื่อ การป้องกันฐานบิน ซึ่งฐานบินเป็นมิติกำลังทางอากาศ (Air Power Domain) หลักของกองทัพอากาศ
แนวคิดและหลักนิยมในการป้องกันฐานบินภาคพื้นของกองทัพอากาศ
สนามบินของกองทัพอากาศมิใช่เป็นแค่สนามบินที่ตั้งของเครื่องบินรบของกองทัพอากาศเพียงเท่านั้นแต่ยังเป็นที่พักอาศัยของข้าราชการและครอบครัว ซึ่งการรักษาความปลอดภัยไม่ได้เป็นหน้าที่ของกลุ่มทหารที่มีหน้าที่เฉพาะเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงทหารทุกคนที่อยู่ภายในฐานบินและทุกคนต้องเข้าใจว่าการป้องกันฐานบิน
คือหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมกันต่อสู้เพื่อปกป้องสนามบินของพวกเขาเอง ฐานบินถือเป็นหัวใจสำคัญของกำลังอำนาจทางอากาศและมักจะตกเป็นเป้าหมายสำคัญในการโจมตีของข้าศึกทั้งทางอากาศและทางภาคพื้น
ที่มา : คู่มือการป้องกันฐานบิน ศูนย์การทหารอากาศโยธิน พ.ศ.๒๕๕๘
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/06/article20210617-2-e1623995677750.png)
อย่างที่ทราบกันว่ายุทธวิธีการรบสมัยใหม่การครอบครองห้วงอากาศถือเป็นตัวตัดสินการแพ้หรือ
ชนะของสงคราม ซึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์หลักของ ทอ.คือ เครื่องบินแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องบินรบ เครื่องบินลำเลียง หรือเครื่องบินปีกหมุน ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นยุทโธปกรณ์ ที่ทันสมัย ราคาแพง และมีอำนาจการทำลายสูงในยามที่ปฏิบัติการอยู่บนอากาศ ฉะนั้นการที่จะลดทอนอำนาจกำลังทางอากาศลง คือมุ่งทำลายเครื่องบินในตอนที่ยังจอดอยู่ที่พื้น หรืออาจเป็นทางขึ้น-ลง ของเครื่องบิน (Runway) และ ทางขับ (Taxiway) หรือจะกล่าวให้เข้าใจได้โดยง่ายคือทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางไม่ให้เครื่องบินขึ้นไปบินอยู่ในอากาศได้
ความเชื่อมโยงของการปฏิบัติการทางอวกาศ กับ การป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ
หากมองให้ลึกลงไปคงจะย้อนกลับไปมองพื้นฐานกลยุทธทางการทำสงครามในอดีต คือการครอบครองพื้นที่ที่สูงถือเป็นการครองความได้เปรียบอย่างมากในการรบอันได้แก่ การโจมตี การตรวจการณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลในเรื่องจำนวนกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของฝ่ายผู้รุกรานเพื่อนำมาทำการวางแผนในการรบหรือการระวังป้องกันแก่ฝ่ายตนต่อไป กองทัพอากาศได้ใช้ประโยชน์จากดาวเทียม นภา-๑ (NAPA-1) เป็น Sensor อีกชิ้นหนึ่งเพื่อใช้ในการตรวจจับแต่เป็นการตรวจจับทางอวกาศ
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/06/article20210617-3.png)
การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Operations: NCO)
การนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ในการตรวจการณ์เพื่อนำมาสร้างการตระหนักรู้ในความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมพื้นที่โดยรอบฐานบินเป็นการลาดตระเวนหาข่าวอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากการลาดตระเวนหาข่าวของ จนท.ผู้รับผิดชอบโดยตรง เพื่อรวบรวมข้อมูลที่อาจจะเป็นภัยคุกคามต่อฐานบินได้
ข้อดี ของการลาดตระเวนทางอวกาศ มีดังนี้
๑. สามารถเห็นภาพในพื้นที่ที่ จนท.ฯ ไม่สามารถเข้าถึงได้
๒. ได้ระยะทางในการตรวจการณ์ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นกว่า จนท.ฯ เนื่องจาก จนท.ฯ มีพื้นที่รักษาความปลอดภัย (Base Security Zone) ซึ่งเป็นพื้นที่ครอบคลุมการป้องกันการโจมตีหน่วยที่ตั้ง ทอ. จากอาวุธพื้นสู่พื้น รวมถึงการลอบยิง บ.ฝ่ายเราในเขตร่อน รัศมี ๑๖ กิโลเมตร เท่านั้น
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมา หากนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่ได้มาทำการบูรณาการกับระบบตรวจจับอื่นๆ
ของ ทอ. จะเป็นการใช้ประโยชน์จากหลายแหล่งเพื่อนำมาทวีกำลังการสร้างความตระหนักรู้ในสถานการณ์อันเป็นการสนับสนุนระบบบัญชาการและควบคุมทางอากาศ หรือภาคพื้นให้สามารถตอบสนองการปฏิบัติภารกิจได้อย่างแม่นยำ โดยในอนาคตอันใกล้กองทัพอากาศจะมีดาวเทียมภาพถ่ายประสิทธิภาพสูงใช้งาน ต่อไป
ที่มา
๑. ยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.๒๕๖๓)
๒. คู่มือการป้องกันฐานบิน ศูนย์การทหารอากาศโยธิน พ.ศ.๒๕๕๘
เรียบเรียงโดย : ร.อ.นิตินัย อุตสาหะ