![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/06/20210614-5.png)
ดาวเทียม CubeSat จำนวน 2 ดวง ผลิตโดยบริษัท General Atomics ให้กับหน่วยงานด้านการพัฒนาอวกาศ (Space Development Agency) จะทำการสาธิตการติดต่อสื่อสารแบบออปติคด้วยระบบ Laser ระหว่างดาวเทียมกับดาวเทียม และระหว่างดาวเทียมกับโดรนทางทหาร โดยดาวเทียมทั้ง 2 ดวงนี้มีกำหนดส่งไปยังวงโคจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun Synchronous Orbit : SSO) ปลายเดือนนี้ ซึ่งจะได้รับการนำส่งไปในภารกิจร่วมโดยสาร (Rideshare Mission) ด้วยจรวด Falcon 9 ของบริษัท SpaceX ทั้งนี้บริษัท General Atomics Electromagnetic Systems ประกาศเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2564 ว่าได้ดำเนินการทดสอบภาคพื้นสำหรับดาวเทียม CubeSats ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์การติดต่อสื่อสารแบบออปติคด้วยระบบ Laser สำเร็จเรียบร้อยแล้ว
หน่วยงานด้านการพัฒนาอวกาศจะใช้ดาวเทียมเหล่านี้ในการทดสอบการเชื่อมต่อแบบออปติคระหว่างดาวเทียม และระหว่างดาวเทียมกับโดรนอัตโนมัติ MQ-9 Reaper ที่สร้างโดยบริษัท General Atomics Aeronautical Systems การติดต่อระหว่างดาวเทียมและแพลตฟอร์มอื่นทางทหารผ่านการติดต่อสื่อสารแบบ
ออปติค เป็นประเด็นหลักที่หน่วยงานด้านการพัฒนาอวกาศต้องการจะพัฒนา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีการประจำการ เครือข่ายที่มีลักษณะคล้ายตาข่ายของดาวเทียมขนาดเล็กในวงโคจรรอบโลกระดับต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) โดยกลุ่มเครือข่ายดาวเทียมนี้รู้จักกันในชื่อ “Transportation Layer” ซึ่งถูกออกแบบให้ส่งผ่านข้อมูลขนาดมหาศาลจากดาวเทียมสู่ดาวเทียม และจากดาวเทียมสู่ภาคพื้นและเครื่องบินในขณะปฏิบัติการ
การทดลองการติดต่อสื่อสารระหว่างอวกาศกับอากาศ (Space-to-Air) คือหนึ่งในก้าวแรกที่จะตรวจสอบความถูกต้องในการใช้การติดต่อสื่อสารแบบออปติคเพื่อให้ได้เวลาในการส่งผ่านข้อมูลที่ต่ำ (Low Latency) รวมทั้งข้อมูลที่ปลอดภัยส่งตรงถึงอาวุธและแพลตฟอร์มสำหรับใช้ในการโจมตี
ดาวเทียม CubeSat ทั้งสองติดตั้งอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารแบบออปติค ความยาวคลื่นอยู่ในย่านความถี่
C-band อีกทั้งดาวเทียมจะพยายามติดต่อกับอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารแบบออปติคของโดรน MQ-9 ซึ่งจะบินอยู่ในระดับความสูงประมาณ 25,000 ฟุต การสาธิตนี้ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ในระยะเวลาดังกล่าวโดรนจะบินที่ระดับความสูงและท่าทางซึ่งแตกต่างกัน เป้าหมายคือเพื่อต้องการดูว่าในขณะที่โดรนเปลี่ยนท่าทางการบิน อุปกรณ์รับส่งสัญญาณสื่อสารแบบออปติคยังคงสามารถรับคำสั่งและส่งต่อข้อมูลได้หรือไม่
นอกจากนี้ ในภารกิจร่วมโดยสารด้วยจรวด Falcon 9 ของบริษัท SpaceX ซึ่งมีชื่อภารกิจว่า
“Transporter 2” ยังเป็นภารกิจที่มีดาวเทียม NAPA-2 ของกองทัพอากาศไทยร่วมโดยสารไปด้วย โดยข้อมูลล่าสุดจากเวบไซต์ Space Launch Schedule เปิดเผยว่า ภารกิจ “Transporter 2” จะเป็นเที่ยวบินโดยสารร่วม ไปยังวงโคจร SSO ด้วยจรวด Falcon 9 Block 5 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.65 เมตร ความสูง 70 เมตร ซึ่งจะขึ้นจาก Space Launch Complex 40 (SLC-40) สถานีกองทัพอวกาศ (Space Force Station) ในแหลมคานาวารัล รัฐฟลอริด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2564 เวลา 0700 ตามเวลาประเทศไทย
– https://www.spacelaunchschedule.com/launch/falcon-9-block-5-transporter-2-dedicated-sso-rideshare/
เรียบเรียง : จ.อ.ธวัชชัย หันจันทร์