องค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ในฐานะองค์กรลูกของคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ลงนามในสัญญา 2 ฉบับ มูลค่า 1.47 พันล้านยูโร หรือประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท ในการออกแบบและสร้างระบบดาวเทียมนำทางกาลิเลโอ (Galileo) ของสหภาพยุโรปยุคที่ 2 ในเฟสแรก ซึ่งบริษัทที่ได้รับสัญญาได้แก่บริษัท Thales Alenia Space จากประเทศอิตาลี และบริษัท Airbus Defence & Space จากประเทศเยอรมนี โดยทั้งสองบริษัทจะต้องสร้างระบบโครงข่ายดาวเทียมจำนวน 2 ระบบ จำนวนดาวเทียมรวม 12 ดวง และระบบทั้งสองนั้นจะต้องไม่เกี่ยวข้องกัน
ด้านนายพอล แฟร์โฮฟ (Paul Verhoef) ผู้อำนวยการฝ่ายระบบการนำทางของ ESA ได้กล่าวว่า โครงการ
กาลิเลโอถือ ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของสหภาพยุโรป และการลงนามในสัญญานี้จะทำให้สามารถมั่นใจได้ว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นความสำเร็จในระยะยาว เพราะโครงการกาลิเลโอในยุคที่ 2 นั้น เป็นการรวบรวมเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ในการเพิ่มศักยภาพให้กับดาวเทียม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้งานทั่วโลก
โครงการกาลิเลโอ เป็นระบบโครงข่ายดาวเทียมนำทางของสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันเป็นระบบนำทางที่มีความแม่นยำมากที่สุดในโลก มีผู้ใช้งานมากกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก และมีความคลาดเคลื่อนในระดับเมตรเท่านั้น โดยหลังจากที่ระบบได้รับการพัฒนาแล้ว ความคลาดเคลื่อนจะลดลงเหลือในระดับเดซิเมตร หรือ ไม่เกิน 1 เมตรเท่านั้น โดยระบบโครงข่ายดาวเทียมกาลิเลโอยุคที่ 2 (G2) ซึ่งประกอบด้วย ดาวเทียมรุ่น “Batch 3” จำนวน 12 ดวง จะเข้ามายกระดับระบบดาวเทียมกาลิเลโอยุคที่ 1 (G1) ที่มีอยู่แล้วจำนวน 26 ดวง ซึ่งดาวเทียมชุดดังกล่าว ยังอยู่ในระหว่างทำการผลิตและทดสอบ และมีแผนจะทำการนำส่งดาวเทียมชุดแรกในปลายปีนี้ อีกทั้งจะเร่งนำส่งให้ครบทั้งหมดภายใน 4 ปี เพื่อทำให้สามารถปฏิบัติการอย่างเต็มรูปแบบได้เร็วที่สุด
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/06/20200601-1.png)
ดาวเทียม G2 นี้จะเข้าไปอยู่ในระบบโครงข่ายดาวเทียมเดิมของกาลิเลโอ โดยที่ดาวเทียม G2 นั้นจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นกว่าดาวเทียมชุดปัจจุบันมาก กับติดตั้งเสาอากาศสำหรับระบบนำทางรวมถึงระบบรับส่งสัญญาณจากภาคพื้นทั่วไป ถึงแม้ว่าดาวเทียมจะมีน้ำหนักมากขึ้น แต่จรวดนำส่งนั้น สามารถนำดาวเทียมขึ้นสู่ห้วงอวกาศได้ 2 ดวงในหนึ่งการปล่อยจรวด เพราะระบบขับเคลื่อนแบบไฟฟ้าที่ติดตั้งในดาวเทียมแต่ละดวงจะเป็นตัวขับเคลื่อนดาวเทียมขึ้นไปยังวงโคจรปฏิบัติการในขั้นตอนสุดท้ายนั่นเอง นอกจากนี้ระบบการสื่อสารระหว่างดาวเทียม (Inter-Satellite Links) จะทำให้ดาวเทียมสามารถตรวจสอบสถานภาพของดาวเทียมดวงอื่น ๆ ในโครงข่าย ซึ่งจะเป็นการลดการพึ่งพาจากสถานีภาคพื้นได้อีกด้วย
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/06/20200601-2.png)
(แหล่งที่มา ESA.int)
การเข้ามาของระบบดาวเทียม G2 นั้น จะทำให้อุปกรณ์ที่มีระบบนำทางในตัว เช่น โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน สามารถรับส่งสัญญาณและเข้าถึงระบบนำทางได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และใช้พลังงานแบตเตอรี่น้อยลง ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาระบบระบุตำแหน่ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ ระบบโดรนอัตโนมัติ รวมถึงระบบ Internet of Things นอกจากนี้ G2 จะเข้ามาช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจค้นหาและช่วยชีวิต ตลอดจนการเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากทั่วทุกมุมโลกผ่านระบบสื่อสารฉุกเฉิน (Emergency Communication) โดยไม่ขึ้นกับผู้ให้บริการเครือข่ายใด ๆ
ในภาพรวมนั้น ระบบดาวเทียม G2 ได้ถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงมากมาย โดยมีสหภาพยุโรปและ ESA เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการพัฒนาระบบดาวเทียมนี้ และจะเข้ามายกระดับและเปลี่ยนแปลงระบบ G1 ที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างไร้รอยต่อและมีส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของระบบกาลิเลโอทั้งหมดที่มีอยู่
ระบบโครงข่ายดาวเทียมกาลิเลโอจะถูกควบคุมและดูแลโดยคณะกรรมการกิจการอวกาศแห่งสหภาพยุโรป (EU Agency for the Space Program : EUSPA) ซึ่งมีที่ตั้ง ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเชค ซึ่ง ESA และ EUSPA จะร่วมกันพัฒนาและปฏิบัติการระบบโครงข่ายดาวเทียม Galileo ร่วมกัน โดย ESA นั้น จะรับผิดชอบในส่วนของการออกแบบ พัฒนา การจัดหา การตรวจสอบคุณภาพ รวมถึงการกำกับดูแลในส่วนของ Ground Station ในนามของสหภาพยุโรป ผู้เป็นเจ้าของโครงการ
ที่มา : https://www.esa.int/Applications/Navigation/ESA_signs_contract_for_new_generation_of_Galileo
แปลและเรียบเรียง : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน