![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/06/20210527-8-1024x565.png)
ในขณะที่โลกมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางอวกาศมาอย่างต่อเนื่อง จีนก็ได้มีการดำเนินโปรแกรมด้านอวกาศให้เจริญก้าวหน้าอย่างน่าประทับใจเช่นกัน จีนได้นำส่งอวกาศยานแบบมีลูกเรือลำแรกขึ้นไปในอวกาศเมื่อปี 2003 ซึ่งเกิดขึ้นเพียง 40 กว่าปีหลังจากนักบินอวกาศจากสหภาพโซเวียด ยูริ กาการิน ได้กลายเป็นนักบินอวกาศคนแรกในอวกาศ นอกจากนี้ภารกิจแรกสำหรับการเดินทางไปยังดาวอังคารของจีนยังได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2020 หรือเพียงครึ่งศตวรรษหลังจากโพรบ (Probe) Mariner 9 ของสหรัฐอเมริกาได้บินผ่านดาวอังคาร
ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังมีการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศให้เท่าทันประเทศมหาอำนาจอื่นได้อย่างรวดเร็ว เช่น ภารกิจในการเดินทางไปทั้งดวงจันทร์และดาวอังคาร การปล่อยจรวดที่มีแรงยกตัวสูง การสร้างกล้องโทรทรรศน์ใหม่ที่จะสามารถปฏิบัติการได้ในปี 2024 และล่าสุดจีนได้สร้างผลงานชิ้นโบว์แดงในการส่งชิ้นส่วนแรกของสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) ซึ่งเป็นสถานีอวกาศแห่งใหม่ของจีนขึ้นไปในวงโคจรได้สำเร็จ
สถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong Space Station) คืออะไร ?
สถานีอวกาศเทียนกงถือเป็นความสำเร็จของห้องปฏิบัติการทางอวกาศ (Space Laboratories) เทียนกง-1 (Tiangong-1) และ เทียนกง-2 (Tiangong-2) ซึ่งได้ถูกนำส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี 2011 และ 2016 ตามลำดับ สถานีอวกาศเทียนกงถูกออกแบบมาให้สร้างเแบบโมดูล คล้ายกับสถานีอวกาศนานาชาติที่ถูกควบคุมและปฏิบัติการโดยประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น แคนาดา และหน่วยงานด้านอวกาศของยุโรป (European Space Agency : ESA) ทั้งนี้เมื่อการสร้างแล้วเสร็จ สถานีอวกาศเทียนกงจะประมีโมดูลหลักอยู่บริเวณตรงกลางโดยมีแคปซูลห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ขนาบทั้งสองข้าง ลักษณะคล้ายตัว “T” น้ำหนักรวมของแคปซูลทั้งสองรวมแล้วประมาณเกือบ 70 ตัน
ในปี 2022 คาดว่าจะมีโมดูลขนาดเล็กกว่าเล็กน้อยจำนวน 2 โมดูล เข้ามาร่วมกับโมดูลเทียนเหอเพื่อขยายขนาดของสถานีอวกาศเพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจการทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างหลากหลาย โดยสุดท้ายแล้ว สถานีจะมี 14 Racks สำหรับการทดลองภายใน และ 50 Ports สำหรับการศึกษาสภาพแวดล้อมทางอวกาศภายนอก
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/05/20210527-9.png)
สถานีอวกาศเทียนกงจะปฏิบัติการในวงโคจรรอบโลกระดับต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) ที่ระดับความสูงประมาณ 340 – 450 กิโลเมตร โดยมีอายุการใช้งานที่ถูกออกแบบมา 10 ปี แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่ามันจะสามารถปฏิบัติการได้มากกว่า 15 ปี หากมีการรักษาและซ่อมแซมที่เหมาะสม
โมดูลหลักของสถานีอวกาศเทียนกงมีชื่อว่า “เทียนเหอ (Tianhe) ซึ่งหมายถึง การประสานเสียงของสวรรค์ (Harmony of Heavens) โดยโมดูลมีขนาดเท่ากับรถบัส ความยาวทั้งหมด 16.6. เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางสูงสุด 4.2 เมตร และมวลขณะถูกนำส่งขึ้นสู่อวกาศเท่ากับ 22.5 ตัน ในโมดูลประกอบด้วยระบบสนับสนุนการยังชีพ ที่พักสำหรับลูกเรือจำนวน 3 คน ระบบนำร่อง ระบบควบคุมท่าทางของสถานี รวมทั้งเป็นแหล่งสร้างพลังงานในการขับเคลื่อนของสถานี โดยแบ่งเป็นสามส่วนย่อยคือ ส่วนที่พักอาศัย (Habitable Living Quarter) ส่วนให้บริการที่ไม่เกี่ยวกับการพักอาศัย (Non-habital Service Section) และท่าเทียบอวกาศยาน (Docking Hub) อีกทั้งโมดูลนี้ยังถือว่าเป็นอวกาศยานที่ใหญ่ที่สุดและแพงที่สุดที่จีนเคยสร้างมา
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/05/20210527-10.png)
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/05/20210527-11.png)
ไป่หลินโฮ่ว รองหัวหน้านักออกแบบสถานีอวกาศประจำสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Association for Science and Technology : CAST) สังกัดบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Aerospace Science and Technology Corporation : CASTC) เปิดเผยว่าโมดูลหลักเทียนเหอ จะทำหน้าที่เป็นศูนย์การจัดการและควบคุมของสถานีอวกาศเทียนกง โดยมีจุดเชื่อมที่สามารถต่อเชื่อมอวกาศยานพร้อมกันถึง 3 ลำ สำหรับการประจำการระยะสั้นหรือ 2 ลำ สำหรับการประจำการระยะยาว
การนำส่งที่มีปัญหา
เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2021 จีนได้เปิดฉากภารกิจการสร้างสถานีอวกาศเทียนกง โดยส่งโมดูลหลักเทียนเหอขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดลองมาร์ช-5บี (Long March-5B) ออกจากศูนย์ปล่อยอวกาศยานเหวินชาง บนชายฝั่งของมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/05/20210527-12.png)
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/05/20210527-13.png)
จรวดลำนี้มี 1 Core Stage และ 4 Boosters โดยที่แต่ละ Booter มีความสูงถึง 28 เมตร (ความสูงของตึก 9 ชั้น) และมีความกว้าง 3 เมตร จรวด Long March 5B ลำนี้มีน้ำหนักประมาณ 850 ตันเมื่อบรรจุเชื้อเพลิงเต็มที่ และสามารถยก Payload ขนาด 25 ตัน ไปยังวงโครจร LEO ได้
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/05/20210527-14.png)
ประมาณ 1 ชั่วโมง 13 นาทีหลังจากที่จรวดขึ้นจากพื้น โมดูลเทียนเหอก็ถูกส่งเข้าสู่วงโคจรสำเร็จ แต่หลังจากนั้นชิ้นส่วนหลัก (Core Stage) ของจรวดซึ่งมีนำหนักประมาณ 20 ตัน ไม่สามารถควบคุมได้ในขณะกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลก และสุดท้ายได้ตกกระทบผิวน้ำในมหาสมุทรอินเดียประมาณกว่าหนึ่งอาทิตย์หลังจากการนำส่ง การที่ปราศจากระบบการควบคุมการเคลื่อนที่กลับมายังโลกของ Core Stage ในครั้งนี้ได้สร้างประเด็นวิพากย์วิจารณ์แก่ประชาคมโลกเป็นอย่างมาก
ภารกิจในอนาคต
ภายในปีนี้จีนมีแผนที่จะส่งอวกาศยานขนส่งสินค้าเทียนโจว-2 (Tianzhou-2) อวกาศยานขนส่งสินค้าเทียนโจว-3 (Tianzhou-3) รวมทั้ง อวกาศยานแบบมีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-12 (Shenzhou-12) และอวกาศยานแบบมีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-13 (Shenzhou-13) เพื่อเชื่อมกับโมดูลหลักของสถานีอวกาศ โดยอวกาศยานเสินโจว-12 จะมีนักบินอวกาศประจำการ 3 คน และจะอยู่ในวงโคจรนาน 3 เดือน ส่วนอวกาศยานเสินโจว-13 จะมีนักบินอวกาศประจำการ 3 คน และจะอยู่ในวงโคจรนาน 6 เดือน
สำหรับภารกิจที่ยาวนาน 3 – 6 เดือน จีนจำเป็นต้องติดตั้งโมดูลหลักที่มีระบบสนับสนุนการยังชีวิต (Life Support System) แบบใหม่เพื่อรีไซเคิลปัสสาวะ อากาศที่นักบินอวกาศหายใจออกมา และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของนักบินอวกาศ
ส่วนปี 2022 จีนจะทำการส่งโมดูลห้องปฏิบัติการเวิ่นเทียน (Wentian) และเมิ่งเทียน (Mengtian) อวกาศยานขนส่งสัมภาระ 2 ลำ และอวกาศยานแบบมีมนุษย์ควบคุม 2 ลำ เพื่อก่อสร้างสถานีอวกาศให้แล้วเสร็จ
กล่าวโดยสรุป จีนต้องการที่จะเรียนรู้วิธีประกอบ ปฏิบัติการ และบำรุงรักษาอวกาศยานขนาดใหญ่ในวงโคจร และตั้งเป้าในการสร้างสถานีอวกาศเทียนกงให้เป็นห้องปฏิบัติการอวกาศระดับประเทศ ที่จะสนับสนุนภารกิจระยะยาวของเหล่านักบินอวกาศ และสนับสนุนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้ นอกจากนี้จีนยังคาดการณ์ว่าสถานีอวกาศแห่งนี้จะสร้างประโยชน์แก่การพัฒนาและการใช้ทรัพยากรอวกาศอย่างสันติผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนเพิ่มพูนเทคโนโลยีและประสบการณ์ให้กับการสำรวจห้วงอวกาศลึก (Deep Space) ของจีนในอนาคต
ที่มา :
– https://theconversation.com/chinas-tiangong-space-station-what-it-is-what-its-for-and-how-to-see-it-160456
– https://www.xinhuathai.com/china/197419_20210429
– https://en.wikipedia.org/wiki/Tiangong_space_station
– https://en.wikipedia.org/wiki/Tianhe_core_module
– https://www.spaceflightinsider.com/organizations/china-national-space-administration/china-orbits-tianhe-the-core-of-its-multi-module-space-station/
– https://spacenews.com/china-could-be-facing-space-station-delay-tiangong-2-to-be-deorbited/
เรียบเรียงโดย น.ต.ชาคริต จันทมิตร