ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังร่วมกันผลักดันแผนการนำนักบินอวกาศกลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง องค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA จึงได้ผลักดันแนวคิดถึงวิธีที่ดีที่สุดในการอำนวยความสะดวกภารกิจสำรวจดวงจันทร์ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Moonlight ที่ ESA ได้จัดตั้งขึ้น โดยได้โน้มน้าวและชักชวนให้บริษัทอุตสาหกรรมด้านอวกาศของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ทำการผลิตและนำส่งโครงข่ายดาวเทียมสื่อสารและนำทางขึ้นไปยังดวงจันทร์
เพื่อที่จะให้ภารกิจสำรวจดวงจันทร์นั้น สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างราบรื่น ระบบนำทางรวมถึงระบบสื่อสารที่แม่นยำและน่าเชื่อถือจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติภารกิจของนักบินอวกาศ อย่างไรก็ตาม การสร้างระบบดังกล่าวนั้น ต้องใช้งบประมาณรวมถึงความซับซ้อนทางเทคโนโลยีที่สูงมากและยังไม่สามารถที่จะยืนยันได้แน่ชัดว่าระบบจะมีประสิทธิภาพที่คุ้มค่ามากน้อยเพียงใด
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/06/20210528-2.png)
ซึ่งถ้าโครงการดังกล่าว เปลี่ยนเป็นการจัดจ้างหรือการจัดตั้งความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทางด้านอวกาศต่าง ๆ โดยที่แต่ละบริษัทจะรับหน้าที่พัฒนาและผลิตส่วนที่ตนรับผิดชอบ ก็จะทำให้มีโครงการนั้น มีความคุ้มค่าในด้านการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบริเวณดวงจันทร์นั้น มีระบบสื่อสารและระบบนำทางกลางที่สามารถให้ทุกภารกิจบนดวงจันทร์ใช้การสื่อสารผ่านระบบกลางนี้กลับมาบนพื้นโลก ตลอดจนเป็นระบบนำทางบนดวงจันทร์ จะทำให้ความซับซ้อนในการออกแบบภารกิจนั้นลดลง ซึ่งจะทำให้ทีมนักวิจัยและวิศวกรสามารถให้ความสำคัญกับภารกิจหลักของตนได้อย่างเต็มที่ รวมถึงมีพื้นที่ในการบรรทุกอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ไปยังดวงจันทร์ได้มากยิ่งขึ้น
ระบบสื่อสารรวมถึงระบบนำทางที่มีความแม่นยำและความน่าเชื่อถือจะทำให้นักบินอวกาศสามารถปฏิบัติภารกิจสำรวจและลงจอดได้ในทุกพื้นที่ของดวงจันทร์ ตลอดจนนักดาราศาสตร์วิทยุสามารถวางแผนสร้างสถานีสังเกตการณ์ที่บริเวณด้านมืดของดวงจันทร์ได้ นอกจากนี้หุ่นยนต์สำรวจก็จะสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยความเร็วที่มากยิ่งขึ้น และยังสามารถถูกควบคุมได้โดยตรงจากศูนย์บังคับการที่อยู่บนพื้นโลก
ในท้ายสุดนั้น ถ้าหากการเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์มีต้นทุนและงบประมาณที่ต่ำลงมามากกว่าในปัจจุบัน จะช่วยทำให้ประเทศสมาชิกชอง ESA สามารถสร้างภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของตนเองได้ โดยอาจรวมถึงการส่งดาวเทียมขนาดเล็กจำนวนมากไปปฏิบัติงานยังดวงจันทร์ ซึ่งจะนับเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยีด้านอวกาศได้อย่างแท้จริง
ที่มา
– https://www.esa.int/ESA_Multimedia/Videos/2021/05/Moonlight_bringing_connectivity_to_the_Moon#.YKkr628CNak.link
– https://www.esa.int/Applications/Telecommunications_Integrated_Applications/Lunar_satellites
แปลและเรียบเรียง : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน