สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เวลา 13:57 UTC ที่ผ่านมา เราได้นำเสนอข่าวของอวกาศยาน 2 ดวง ได้เดินทางผ่านดาวศุกร์ และหนึ่งในนั้นก็ได้ส่งภาพกลับมาให้เราได้ยลโฉมแล้ว
อวกาศยาน BepiColombo ได้รับการออกแบบ และควบคุมการปฏิบัติภารกิจร่วมระหว่างองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ได้โคจรผ่านดาวศุกร์ที่ระยะ 552 กม. (343 ไมล์) แต่สำหรับภาพที่ถ่ายได้นั้น เป็นภาพถ่ายที่ระยะ 1,573 กม. (977 ไมล์) โดยใช้กล้องตรวจสอบสภาพภายนอกของอวกาศยานความละเอียดต่ำ สำหรับภารกิจการโคจรผ่านของ BepiColombo นี้ เป็นหนึ่งในหลายรอบที่อวกาศยานต้องโคจรผ่าน ก่อนที่จะไปเข้าสู่วงโคจรสำรวจดาวพุธ (Mercury Exploration) ตามภารกิจต่อไป
![](http://isr.spoc.rtaf.mi.th/wp-content/uploads/2021/08/BepiColombo.jpg)
ก่อนหน้านี้อวกาศยาน Solar Orbiter ของ NASA/ESA ได้โคจรผ่านดาวศุกร์ในระยะทาง 7,995 กม. (4,968 ไมล์) เมื่อเวลา 04:42 UTC ของวันที่ 9 สิงหาคมเช่นกัน แต่ Solar Orbiter ไม่สามารถถ่ายภาพใดๆ ได้ เหตุเพราะจำเป็นต้องหันแผงโซลาร์เซลล์เข้าหาดวงอาทิตย์เพื่อรับพลังงาน ทำให้กล้องไม่อยู่ในมุมที่ถ่ายภาพได้ อย่างไรก็ตามอวกาศยานทั้งสองก็ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมแม่เหล็ก และพลาสมาของดาวศุกร์ และส่งข้อมูลให้อวกาศยาน Akatsuki ของ JAXA ซึ่งอยู่ในวงโคจรรอบดาวศุกร์ สำหรับข้อมูลที่ได้รวบรวมเพิ่มเติมนี้ ทำให้สามารถเปรียบเทียบการสังเกตการณ์จากทั้ง 3 ตำแหน่งของอวกาศยานได้
จากภาพที่มีความละเอียด 1024 x 1024 พิกเซลนี้ ได้ถูกส่งกลับมายังโลก ถูกดำเนินการแปรความ และปรับความชัดเจนภาพ นอกจากได้เห็นภาพดาวศุกร์แล้ว ยังมองเห็นจานรับส่งสัญญาณกำลังสูงและส่วนหนึ่งของตัวอวกาศยานอีกด้วย การโคจรผ่านดาวศุกร์ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง หลังจากอวกาศยานโคจรผ่านโลกและดาวศุกร์ตามลำดับเมื่อปี 2563 และต้องโคจรผ่านอีกถึง 6 ครั้ง จึงจะเข้าสู่วงโคจรที่เหมาะสมของดาวพุธเพื่อทำภารกิจต่อไป
สำหรับอวกาศยาน BepiColombo มีกำหนดจะไปเข้าสู่วงโคจรสำหรับปฏิบัติภารกิจสำรวจดาวพุธ ในปี 2568 หลังจากเดินทางเข้าสู่วงโคจรปฏิบัติภารกิจแล้ว ก็จะส่งอวกาศยาน Mercury Planetary Orbiter และ Mercury Magnetospheric Orbiter ของ JAXA ออกจาก BepiColombo เพื่อทำการสำรวจสนาม แม่เหล็ก แมกนีโตสเฟียร์ตลอดจนพื้นผิว และแกนภายในของดาวพุธเป็นระยะเวลา 1 ปีต่อไป
ที่มา : https://newatlas.com/space/bepicolombo-solar-orbiter-close-encounter-venus/
แปลและเรียบเรียง : ricebird572